เมนูปิด

           บริษัทฯ มีระเบียบข้อบังคับและแนวปฏิบัติการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงาน เรื่อง การรักษาพยาบาลกรณีพนักงานเกษียณอายุ โดยข้อ 4 (ก) กำหนดว่า บริษัทฯ จะให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแก่พนักงานในอัตราร้อยละ 100 สำหรับพนักงานประจำของบริษัทฯ ซึ่งปฏิบัติงานตั้งแต่ปีที่ 15 บริบูรณ์ขึ้นไป โดยนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานประจำจนถึงวันที่เกษียณอายุ บริษัทฯ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลกรณีพนักงานเกษียณอายุ จาก “พนักงานประจำของบริษัทฯ ที่เริ่มทำงานก่อนเดือนมกราคม 2552 และปฏิบัติงานตั้งแต่ปีที่ 15 บริบูรณ์ขึ้นไป ฯลฯ บริษัทฯ จะให้ความช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 100” เป็น “พนักงานประจำของบริษัทฯ ที่เริ่มทำงานก่อนเดือนมกราคม 2552 และปฏิบัติงานตั้งแต่ปีที่ 15 บริบูรณ์ขึ้นไป ฯลฯ บริษัทฯ จะให้ความช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 75”ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดว่า กรณีที่นายจ้างประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย บริษัทฯ ได้เสนอวิธีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่ตกลงยินยอมให้บริษัทฯ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในระเบียบฯ โดยบริษัทฯ จะจ่าย “เงินชดเชย” ให้แก่พนักงาน คำนวณตามปีปฏิทินนับแต่ปีที่พนักงานได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำจนถึงปี 2559 ในอัตราปีละ 20,000 บาท โดยจ่ายให้แก่พนักงานครั้งเดียวภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ซึ่งกรณีที่พนักงานลงนามตกลงยินยอมให้บริษัทฯ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในระเบียบฯ ตาม บริษัทฯ จะบันทึกจำนวนเงินค่าตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่พนักงาน เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 บริษัทฯ หารือว่า บริษัทฯ สามารถนำ “เงินชดเชย” ค่าตอบแทนการยินยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อบังคับการทำงาน มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้หรือไม่ อย่างไร

          บริษัทฯ จ่ายเงินชดเชยโดยคำนวณตามปีปฏิทินนับแต่ปีที่พนักงานได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำจนถึงปี 2559 ในอัตราปีละ 20,000 บาท ให้แก่พนักงานที่ยินยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสวัสดิการการรักษาพยาบาลของพนักงาน เงินชดเชยดังกล่าวถือเป็นเงินได้ที่พนักงานได้รับตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น หากการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวเป็นการจ่ายโดยสุจริต ตามความจำเป็นและสมควร บริษัทฯ มีสิทธินำเงินที่จ่ายไปนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: 0702/6329 วันที่: 17 กันยายน 2562 เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานในการยินยอมให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในข้อบังคับการทำงาน ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 82/40884

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020