เลขที่หนังสือ | : 0702/6082 | วันที่ | : 11 กันยายน 2562 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในอ่าวไทย | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 เตวีสติ,มาตรา 65 เอกวีสติ (1) (5) (2) มาตรา 65 ทวาวีสติ, มาตรา 65 อัฎฐารส มาตรา 65 วีสติ ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 | ข้อหารือ | | บริษัท P หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่บริษัทฯ มีรายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในอ่าวไทย มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1.บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี บริษัทฯ ได้เข้าร่วมการประมูลเพื่อขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับกระทรวงพลังงาน จำนวน 2 ฉบับ สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทย หมายเลข G1/61 และ G2/61 (สัญญาฯ) โดยสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอหารือ ดังนี้
1.1วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ สัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 ฉบับ มีผลใช้บังคับทันทีในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562
1.2วันที่ให้สิทธิเป็นผู้รับสัญญาบริษัทฯ จะได้สิทธิเป็นผู้รับสัญญาในวันที่ 24 เมษายน 2565
1.3ระยะเวลาสำรวจระยะเวลาสำรวจที่กำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2565
1.4ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมมีกำหนด 20 ปี นับจากวันถัดจากวันสิ้นระยะเวลาสำรวจ
1.5กำหนดเวลายื่นแผนงานและงบประมาณ สำหรับกิจกรรมปิโตรเลียม (WPB) ในปีที่หนึ่ง บริษัทฯ ต้องยื่นแผนงานและงบประมาณดังกล่าว ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
2.ในช่วงเวลาก่อนสัญญาฯ มีผลใช้บังคับ กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 บริษัทฯ มีรายได้และรายจ่าย ดังนี้ รายได้ ได้แก่
(1)ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์
(2)กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
(3)ค่าบริการข้อมูล สำหรับการประมูลแปลงหมายเลข G1/61 และแปลงหมายเลข G2/61 จากบริษัทที่เข้าศึกษาการประมูลร่วมกัน รายจ่าย ได้แก่
(1)ค่าใช้จ่ายซึ่งจ่ายให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดังนี้
-ค่าเข้าร่วมประมูล (Participation Fee) จำนวน 7,000,000 บาทต่อแปลง
-ค่าธรรมเนียมคำขอประมูล (Application Fee) จำนวน 50,000 บาทต่อหนึ่งคำขอ
-ค่าตอบแทนการลงนาม จำนวน 1,050,000,000 บาทต่อแปลง
(2)ค่าบริการข้อมูลที่จ่ายให้แก่บริษัทในเครือเพื่อให้การสนับสนุนการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประมูล
(3)ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทฯ
(4)ค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจากธนาคาร (Bank Guarantee Fee)
(5)ค่าที่ปรึกษาและผู้สอบบัญชี
(6)ค่าบริการที่จ่ายให้แก่บริษัทในเครือ สำหรับการบริหารจัดการ (Administrative Services)
(7)ดอกเบี้ยจ่าย
3.ในช่วงเวลาตั้งแต่สัญญาฯ มีผลใช้บังคับ (25 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไป แต่ก่อนวันที่จะได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาฯ (24 เมษายน 2565) บริษัทฯ จะมีรายได้และรายจ่าย ดังนี้ รายได้ ได้แก่
(1) ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์
(2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
(3) ค่าบริการสำหรับการเป็นผู้ดำเนินการที่เรียกเก็บจากบริษัทผู้ร่วมรับสัญญาฯ ในแปลงหมายเลข G1/61 รายจ่าย ได้แก่
(1)ค่าใช้จ่ายตามสัญญาฯ ซึ่งจ่ายให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดังนี้
-เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย ปีละ 7,000,000 บาท โดยชำระภายในวันที่ 24 เมษายนของทุกปี ตลอดระยะเวลาตามสัญญาฯ นับแต่วันที่สัญญาฯ มีผลใช้บังคับจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาฯ โดยชำระครั้งแรกภายในวันที่ 24 เมษายน 2562
-ผลประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ในวงเงินปีละ 3,500,000 บาทต่อแปลง ตลอดระยะเวลาตามสัญญาฯ นับแต่วันที่สัญญาฯ มีผลใช้บังคับจนถึงปีที่ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาฯ เพื่อให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใช้ในการจัดซื้อ/จัดหาตำรา ข้อมูล และเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ทางเทคนิค และจัดส่งเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือบุคคลสัญชาติไทยตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนด เข้ารับการศึกษา ฝึกอบรม ประชุม และสัมมนาในสาขาวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และการจัดการ จากสถาบันหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการฝึกอบรมในบริษัทฯ และ/หรือตามสาขาในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการดูงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียม ถ่านหิน และหินน้ำมัน
(2)ค่าตอบแทนการเข้าพื้นที่ ตามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ให้แก่ผู้รับสัมปทานปัจจุบัน สำหรับแปลงหมายเลข G1/61 และแปลงหมายเลข G2/61
(3)ค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับสัมปทานปัจจุบัน สำหรับแปลงหมายเลข G1/61 และแปลงหมายเลข G2/61 เพื่อรักษาระดับกำลังการผลิตปิโตรเลียม
(4) ค่าที่ปรึกษาและผู้สอบบัญชี
(5) ค่าบริการที่จ่ายให้แก่บริษัทในเครือ สำหรับการบริหารจัดการ (Administrative Services)
(6) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
4.ในช่วงเวลาตั้งแต่บริษัทฯ ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาฯ (24 เมษายน 2565) เป็นต้นไป บริษัทฯ จะมีรายได้และรายจ่าย ดังนี้ รายได้ ได้แก่
(1) รายได้จากการขายปิโตรเลียมตามสัญญาฯ
(2) ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์
(3) ดอกเบี้ยจากการบริหารเงิน (Cash Pooling) ที่ได้รับจากบริษัทในเครือ
(4) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
(5) ค่าบริการสำหรับการเป็นผู้ดำเนินการที่เรียกเก็บจากบริษัทผู้ร่วมรับสัญญาฯ ในแปลงหมายเลข G1/61 รายจ่าย ได้แก่
(1)ค่าใช้จ่ายตามสัญญาฯ ซึ่งจ่ายให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดังนี้
-ค่าตอบแทนการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ จำนวน 350,000,000 บาท สำหรับแปลงหมายเลข G1/61 และ 175,000,000 บาท สำหรับแปลงหมายเลข G2/61 โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดละเท่า ๆ กัน ภายในวันที่ 24 เมษายนของทุกปี ชำระครั้งแรกภายในวันที่ 24 เมษายน 2565
-ค่าตอบแทนการผลิต คำนวณจากปริมาณสะสมของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมในอัตรา ดังนี้
(ก)เมื่อมีปริมาณสะสมถึง 100 ล้านบาร์เรล ให้ชำระ 525,000,000 บาท
(ข)เมื่อมีปริมาณสะสมถึง 200 ล้านบาร์เรล ให้ชำระอีก 525,000,000 บาท
(ค)เมื่อมีปริมาณสะสมถึง 300 ล้านบาร์เรล ให้ชำระอีก 525,000,000 บาท
โดยให้ชำระเงินค่าตอบแทนการผลิต ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ปริมาณสะสมของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมถึงอัตราที่กำหนด
-เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทยปีละ 7,000,000 บาท ตลอดระยะเวลาสัญญาฯ
-ผลประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ในวงเงินปีละ 3,500,000 บาทต่อแปลง ตลอดระยะเวลาตามสัญญาฯ
-สำหรับแปลงหมายเลข G2/61 บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินเป็นจำนวน 650,000,000 บาท ในระยะเวลา 10 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปี 2575 ในวงเงินปีละ 65,000,000 บาท เพื่อใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านปิโตรเลียมในประเทศไทย
(2)ค่าที่ปรึกษาและผู้สอบบัญชี
(3)ค่าบริการที่จ่ายให้แก่บริษัทในเครือ สำหรับการบริหารจัดการ (Administrative Services)
(4)ค่าสิ่งติดตั้ง (Facilities/Platforms) เพื่อใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
(5) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
บริษัทฯ ขอหารือว่า บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในรายได้และรายจ่าย ในแต่ละช่วงเวลาข้างต้น อย่างไร
แนววินิจฉัย | | บริษัท1.ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แยกพิจารณาได้ ดังนี้
1.1เนื่องจากบริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ดังนั้น จึงต้องถือว่าวันเริ่มตั้งเป็นวันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีแรก และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกเป็นต้นไป ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเริ่มดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมก่อนวันที่กำหนดระยะเวลาสำรวจและผลิตในสัญญาฯ จะเริ่มขึ้นก็ตาม
1.2นับจากวันที่ 24 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มระยะเวลาสำรวจและผลิตตามสัญญาฯ และเป็นวันที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามมาตรา 65 เตวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 และเริ่มมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นครั้งแรก ให้ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันแรกแห่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามมาตรา 65 เอกวีสติ (1) วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมภายในห้าเดือน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
1.3ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้น ให้บริษัทฯ นำรายได้และรายจ่ายของแปลงหมายเลข G1/61 มารวมกับรายได้และรายจ่ายของแปลงหมายเลข G2/61 เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้การคำนวณรายได้รายจ่ายของแต่ละสัญญาฯ แยกต่างหากจากกันแต่อย่างใด
2.ในส่วนที่เกี่ยวกับรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แยกพิจารณาได้ ดังนี้
2.1ในช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนสัญญาฯ มีผลใช้บังคับ (9 พฤษภาคม 2561 ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2562) และตั้งแต่วันที่สัญญาฯ มีผลใช้บังคับ (25 กุมภาพันธ์ 2562) จนถึงวันก่อนวันที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตและเริ่มมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ภายใต้สัญญาฯ เป็นครั้งแรก (24 เมษายน 2565) รายการรายได้ตาม 2. และ 3. ทุกรายการข้างต้น ไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้ ตามมาตรา 65 อัฏฐารส แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับตามมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร
2.2ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตและเริ่มมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ภายใต้สัญญาฯ เป็นครั้งแรก (24 เมษายน 2565) รายการรายได้ตาม 4. (1) (2) (4) และ (5) เข้าลักษณะเป็นยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม หรือยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 65 อัฏฐารส แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับตามมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ดังนั้น บริษัทฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องแบ่งสัดส่วนตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงินว่าเพื่อใช้ในกิจการใดด้วย ระหว่างกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อนึ่ง ในส่วนของดอกเบี้ยจากการบริหารเงิน (Cash Pooling) ที่ได้รับจากบริษัทในเครือตาม 4. (3) นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 65 อัฏฐารส แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับตามมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ดังนั้น บริษัทฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2.3กรณีที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้น ธนาคารผู้จ่ายไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในดอกเบี้ยดังกล่าวตามข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด
3.ในส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่ายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
3.1รายจ่ายที่ได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อกิจการปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ไม่ว่าจะจ่ายก่อนหรือหลังวันที่สัญญาแบ่งปันผลผลิตมีผลใช้บังคับ (25 กุมภาพันธ์ 2562) แต่ก่อนวันที่มีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ภายใต้สัญญาฯ เป็นครั้งแรก (24 เมษายน 2565) ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัทฯ โดยให้ถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในวันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามเงื่อนไขของของหมวด 7 ตรี แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 และให้นำมาหักค่าชดเชยตามเงื่อนไขของข้อ 3 (1) และ (2) ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 95 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 อนึ่ง หากรายจ่ายดังกล่าวไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่า เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้บริษัทฯ เฉลี่ยรายจ่ายนั้นตามหลักการทางบัญชีที่เหมาะสม
3.2ตั้งแต่วันที่มีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ตามสัญญาฯ เป็นครั้งแรก (24 เมษายน 2565) บริษัทฯ สามารถนำรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียมทั้งหมดมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ตามเงื่อนไขของหมวด 7 ตรี แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560
3.3ค่าตอบแทนการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ จำนวน 350,000,000 บาท สำหรับแปลงหมายเลข G1/61 และ 175,000,000 บาท สำหรับแปลงหมายเลข G2/61 นั้น ถือเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งสะสมปิโตรเลียม บริษัทฯ ต้องนำมาหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 วีสติ (1) และมาตรา 65 เอกวีสติ (5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 และข้อ 2 (3) ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 95 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2515
3.4รายจ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเพื่อกิจการปิโตรเลียม ถึงแม้ว่าเป็นรายจ่ายที่มิได้อยู่ในแผนงานและงบประมาณประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 บริษัทฯ ก็สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ ภายใต้เงื่อนไขของหมวด 7 ตรี แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 อนึ่ง ในการคำนวณรายได้ รายจ่ายข้างต้น เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมตามมาตรา 65 เอกวีสติ (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 65 ทวาวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560
เลขตู้ | : 82/40883 |