ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร
--------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 และข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.122/2545 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.147/2548 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2548 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากรไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องถือปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติงานดังนี้
(1) การจัดทำแนวทางการสอบบัญชี
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องจัดทำแนวทางการสอบบัญชีสำหรับงานที่รับตรวจสอบไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานตรวจสอบ และจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเนื่องจากแนวทางการสอบบัญชีเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจึงต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการสอบบัญชี หมวดรหัส 300 - 399 เรื่อง การวางแผนงานสอบบัญชี ซึ่งในการจัดทำแนวทางการสอบบัญชีผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องพิจารณาการประเมินเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความเสี่ยงสืบเนื่องและความเสี่ยงจากการควบคุมตามมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 400 เรื่อง การประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีกับการควบคุมภายใน
(2) การจัดทำกระดาษทำการ
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องจัดทำกระดาษทำการ เพื่อบันทึกการตรวจสอบและจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 230 เรื่อง กระดาษทำการของผู้สอบบัญชี
(3) การทดสอบความถูกต้องของงบการเงินและบัญชี รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้านภาษีอากร
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องทดสอบความถูกต้องของงบการเงินและบัญชีว่าถูกต้องเป็นจริงตามควรตรงตามเอกสารประกอบการลงบัญชี และบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ ซึ่งงบการเงินต้องแสดงข้อมูลและรายการตรงตามสมุดบัญชี รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องเลือกใช้วิธีการตรวจสอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับกรณี โดยต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการสอบบัญชี หมวดรหัส 500 - 599 เรื่อง หลักฐานการสอบบัญชี
วิธีการตรวจสอบที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเลือกใช้ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของแต่ละกิจการ จะต้องรวมถึงการขอข้อมูลจากธนาคาร การขอยืนยันยอดลูกหนี้เจ้าหนี้ การขอยืนยันการออกใบกำกับภาษี การเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใช้วิธีอื่นที่ให้ความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันและอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้
จำนวนรายที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเลือกมาทดสอบนั้น จะต้องมีจำนวนมากพอที่จะทำให้สิ่งที่ตรวจพบสะท้อนภาพรวมของเรื่องที่ทดสอบได้ โดยอย่างน้อยที่สุดให้มี จำนวน ดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นรายการบัญชีรับ จ่าย บัญชีซื้อ ขาย และเรื่องอื่น ๆ ที่มีรายการเป็นจำนวนมาก ต้องเลือกรายการเพื่อตรวจสอบอย่างน้อย 20 รายการของแต่ละบัญชี
(ข) กรณีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ การขอข้อมูลธนาคาร ต้องดำเนินการทุกรายการ
(ค) กรณีการยืนยันยอดเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ต้องยืนยันยอดเจ้าหนี้หรือลูกหนี้รวมมูลค่าหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด
(ง) กรณีการยืนยันการออกใบกำกับภาษี ต้องยืนยันการออกใบกำกับภาษีซื้อฉบับที่มีมูลค่าสูงสุด 20 ลำดับแรกของรายงานภาษีซื้อ และจะต้องไม่เป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการรายเดียวกัน เว้นแต่กรณีที่กิจการมีผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีให้ ไม่ถึง 20 ราย ก็ให้ยืนยันการออกใบกำกับภาษีเท่าจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่นั้น
(จ) กรณีเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ ต้องสังเกตการณ์ตรวจนับสินค้าคงเหลือรวมมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าคงเหลือทั้งหมด
(ฉ) กรณีที่รายการบัญชีที่จะทดสอบมีจำนวนน้อย และมีสาระสำคัญค่อนข้างมาก ต้องทำการตรวจสอบทุกรายการ
(4) การตรวจสอบการปรับปรุงกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางบัญชีเป็นกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร รวมถึงการตรวจสอบการจัดทำบัญชีพิเศษของกิจการที่กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องตรวจสอบการปรับปรุงกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางบัญชีเป็นกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร รวมถึงการตรวจสอบการจัดทำบัญชีพิเศษของกิจการที่กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
(ก) ตรวจสอบหาความแตกต่างระหว่างนโยบายบัญชีของกิจการกับหลักเกณฑ์ทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
(ข) ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการปรับปรุงรายการตาม (ก) เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของกิจการ
(ค) ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการจัดทำบัญชีพิเศษและการจัดทำรายงานตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด โดยผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องทำการทดสอบรายการในบัญชีพิเศษหรือรายงานไม่น้อยกว่า 20 รายการ
ข้อ 2 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมส่งมอบแนวทางการสอบบัญชี กระดาษทำการ ตามข้อ 1 (1) และ (2) และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีต่ออธิบดีผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร
ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2548
ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์
(นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์)
อธิบดีกรมสรรพากร