เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8939
วันที่: 28 กันยายน 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินปันผลของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นเวลา 7 ปี เริ่มมีรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2540
ถึงเดือนมกราคม 2547 ในรอบระยะเวลาบัญชี 1/1/2546 - 31/12/2546 บริษัทฯ มีกำไรที่ได้รับการ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมการลงทุนเลขที่ 1421/2539 ซึ่งบริษัทฯ ประกาศจ่าย
เงินปันผลจากกำไรของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ณ วันที่
30 กรกฎาคม 2547 เป็นจำนวนเงิน 5,100,000.00 บาท เนื่องจากบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไร
ของปี 1/1/2546 - 31/12/2546 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ จึงสามารถ
จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นโดยไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ถูกต้อง
ใช่หรือไม่
กำไรขาดทุนตามแบบ ภ.ง.ด.50 ปี 2546
ปี พ.ศ. กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ กิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้
กำไรสุทธิ ขาดทุนสุทธิ กำไรสุทธิ ขาดทุนสุทธิ
2540 - 15,055,879.53 - -
2541 9,030,806.67 - - -
2542 9,487,063.61 - - -
2543 16,318,212.79 - - -
2544 21,722,213.25 - 3,358,495.60 -
2545 29,753,707.49 - 1,313,369.25 -
10,384,014.68
(1) ปี 2544 และปี 2545 บริษัทฯ ต้องเสียภาษีจากกำไร 3,358,495.60 บาท และ
1,313,369.25 บาท หรือไม่
(2) ปี 2547 บริษัทฯ สามารถนำผลขาดทุน 10,384,014.68 บาท ไปใช้ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ผู้รับเงินปันผลจาก
บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องเป็นเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น และจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จะต้องเป็น
เงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่าย และผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริม
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามข้อ 5 และข้อ 6 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง
การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมในรอบระยะเวลาบัญชี
1/1/2546 - 31/12/2546 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่ได้จ่าย
เงินปันผลดังกล่าวหลังจากวันที่พ้นระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ผู้รับเงินปันผล
จากบริษัทฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่
ผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จึงต้องหักภาษีและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กำไรจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปี 2544 และปี 2545 จำนวน 4,671,864.85
บาท (3,358,495.60 + 1,313,369.25) บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนจากกิจการที่ได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้ในปี 2540 จำนวน 15,055,879.53 บาท มาหักเป็นรายจ่ายได้ ทำให้ยังคงขาดทุน
10,384,014.68 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
3. ผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2545 ที่เหลืออยู่จำนวน
10,384,014.68 บาท บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจาก
กำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
พ.ศ.2520
เลขตู้: 67/33146

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020