การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ปีภาษี 2553
1. คำถาม : ลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต สำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยมีขั้นตอนอย่างไร
คำตอบ : ขั้นตอนการลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต สำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยมีขั้นตอนดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th =>E-FILING => ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ บริการอิเล็กทรอนิกส์ =>ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต
2. เมื่อปรากฏหน้าจอของสำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ท่านดูในส่วน WHATS NEW =>ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2553 HOT! =>ลงทะเบียน => ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91
3. หน้าจอจะปรากฏสถานะของผู้มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาให้เลือก ได้แก่
บุคคลธรรมดา
สัญชาติไทยต่างด้าว / Foreigner
คณะบุคคล
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
หากท่านเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย ก็ให้เลือกหัวข้อ บุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
4. หน้าจอจะปรากฏช่องว่างในส่วนต่าง ๆ ขึ้นมา 5 ส่วน ให้ท่านกรอกรายละเอียดในแต่ละช่องให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามคำแนะนำที่ปรากฏอยู่ข้างท้าย ของแต่ละส่วนให้ถูกต้อง
5. ส่วนที่ 1 ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้
เลขประจำตัวประชาชน ให้กรอกเลขประจำตัวประชาชน (13 หลัก) ของผู้มีเงินได้ที่ต้องการลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 (ห้ามใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี)
ชื่อและชื่อสกุล ให้กรอกชื่อและชื่อสกุลของผู้มีเงินได้ (ไม่ต้องใส่คำนำหน้าชื่อ)
วันเดือนปีเกิดให้กรอกวันเดือนปีเกิดเป็นตัวเลขทั้งหมด เช่น เกิดวันที่ 28 ธันวาคม 2498 ให้กรอก 28/12/2498 (กรณีทราบเพียง พ.ศ.เกิด ให้กรอกวัน/เดือน เป็น 00/00 แล้วตามด้วย พ.ศ.เกิด)
ชื่อและชื่อสกุลบิดา ชื่อและชื่อสกุลของบิดาของผู้มีเงินได้ โดยไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อ ให้กรอกระหว่างชื่อและชื่อสกุลให้เว้นวรรคอย่างน้อย 1 ตัวอักษร
ชื่อและชื่อสกุลมารดา ให้กรอกชื่อและชื่อสกุลของมารดาของผู้มีเงินได้ โดยไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อ ระหว่างชื่อและชื่อสกุลให้เว้นวรรคอย่างน้อย 1 ตัวอักษร
เบอร์โทรศัพท์ ให้กรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ (จะเป็นหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ทำงาน หรือหมายเลขโทรศัพท์บ้านก็ได้)
6. ส่วนที่ 2 หมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่าน (User ID และ Password)
หมายเลขผู้ใช้ ระบบจะแสดงหมายเลขผู้ใช้ (เลขประจำตัวประชาชน) ให้อัตโนมัติเมื่อท่านกรอกเลขประจำตัวประชาชนในส่วนที่ 1โดยท่านไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำอีก
รหัสผ่าน ท่านสามารถกำหนดรหัสผ่านได้เอง เป็นตัวเลขหรือตัวอักษรก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 8 ตัวอักษร ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อผู้ใช้ และไม่ใช้คำว่า password (รายละเอียดในการตั้งรหัสผ่านให้ดูคำแนะนำคำถามคำตอบข้อที่ 2)
7. ส่วนที่ 3 เลือกคำถามเพื่อใช้ในกรณีที่ท่านลืมรหัสผ่าน
คำถาม ให้ท่านเลือกคำถาม โดยใช้ปุ่ม Drop down แล้วเลือกคำถามที่มีอยู่
คำตอบ ให้ท่านใส่คำตอบให้สัมพันธ์กับคำถามที่เลือกไว้ก่อนแล้ว การตั้งคำถามคำตอบจะเป็นประโยชน์กรณีที่ท่านลืมรหัสผ่าน ระบบจะให้ท่านกรอกข้อมูลคำถามคำตอบ ที่ท่านกำหนดไว้ เพื่อทำการค้นหารหัสผ่านให้ท่าน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ควรเลือกคำถามและคำตอบให้เหมาะสมควรเป็นข้อมูลที่ท่านสามารถจดจำได้ง่าย แต่ผู้อื่นไม่สามารถคาดเดาได้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นทราบรหัสผ่านของท่าน และเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวของท่านโดยที่ท่านไม่อนุญาต
8. ส่วนที่ 4 ระบุอีเมล์ของท่าน
อีเมล์ของท่าน :ให้ท่านกรอกอีเมล์ของท่านที่สามารถติดต่อได้ (ถ้ามี) เพื่อประโยชน์ในการติดต่อของเจ้าหน้าที่ (กรณีที่ไม่มีอีเมล์ไม่ต้องกรอกก็ได้)
9. ส่วนที่ 5 รับข้อตกลง
ให้ท่านคลิ๊กที่ ข้อตกลง ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อตกลงในการลงทะเบียน เมื่อท่านเข้าใจและยอมรับเงื่อนไขในข้อตกลงดังกล่าว ให้ท่านคลิ๊กปุ่ม ยอมรับ จากนั้นระบบจะกลับไปที่หน้าจอลงทะเบียน ให้ท่านตรวจสอบข้อมูลที่ท่านได้กรอกไว้ในแต่ละส่วนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นว่า ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้คลิ๊กปุ่ม ลงทะเบียน หากมีข้อผิดพลาดที่ส่วนใดจะปรากฏข้อความแจ้งเตือน ให้ท่านแก้ไขตามที่ระบบแจ้งเตือนให้ถูกต้อง
ระบบยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ดีกับ Internet Explorer 5.5+ / Netscape Communication 6+ ซึ่งรวมทั้งการใช้งานจาก Window 7 / Vista ด้วย
2. คำถาม : การตั้งรหัสผ่าน กรณีลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต มีข้อกำหนดอย่างไร
คำตอบ : ข้อกำหนดในการตั้งรหัสผ่าน มีดังนี้
1. รหัสผ่านต้องมีความยาว 8 ตัวอักษร
2. ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษได้ (ทั้งตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่)
3. ใช้ตัวเลข และ/หรือ สัญลักษณ์ได้
4. ไม่ใช้ คำว่า password
5. ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อผู้ใช้
คำแนะนำ
1. การสร้างรหัสผ่านที่มีความปลอดภัย
(1) ไม่ควรใช้คำที่เดาได้ง่าย เช่น คำในพจนานุกรม หรือชื่อของคน สถานที่ หรือสิ่งของ
(2) ไม่ควรใช้ตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงลำดับต่อเนื่องกัน (เช่น abcdef หรือ 12345678)
(3) ควรใช้การผสมกันของตัวอักษร ตัวเลข และ/หรือ สัญลักษณ์
2. การตั้งรหัสผ่านที่จำได้ง่าย
(1) ผสมคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปเข้าด้วยกัน แล้วนำไปรวมกับตัวเลข
(2) ย่อกลุ่มคำ หรือ สำนวนที่ท่านสามารถจดจำได้
(3) ตัดสระออกจากคำพูดซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ แล้วเพิ่มตัวเลขลงไป
3. การป้องกันรหัสผ่านเก็บรักษารหัสผ่านของท่านไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อไว้ใช้ในปีต่อไป
3. คำถาม : ลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต และมีรหัสผู้ใช้กับรหัสผ่านแล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ สามารถทำได้หรือไม่
คำตอบ : ได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th =>E-FILING =>ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ บริการอิเล็กทรอนิกส์ =>ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต
2. เมื่อปรากฏหน้าจอของสำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ท่านดูในส่วน WHATS NEW =>ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2553 HOT! =>รหัสผ่าน => เปลี่ยนรหัสผ่าน
3. หน้าจอจะปรากฏ บริการเปลี่ยนรหัสผ่าน สำหรับผู้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91/94 ปีภาษี 2553 ผ่านอินเทอร์เน็ต
4. ให้ท่านกรอกข้อมูลในช่องว่างให้ถูกต้องตามคำแนะนำที่ปรากฏ โดยที่ท่านจะต้องจำรหัสผ่านเดิมได้ และสามารถกำหนดรหัสผ่านใหม่ได้ด้วยตัวเอง (ซ้ำ 2 ครั้ง) แล้วกดปุ่ม ยืนยัน ท่านก็จะสามารถใช้รหัสผ่านใหม่ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทันที
4. คำถาม : ลงทะเบียนและยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่จำรหัสผ่านไม่ได้จะต้องทำอย่างไร
คำตอบ : กรณีลืมรหัสผ่านสามารถนำเม้าส์คลิ้กที่ตัวอักษร "ลืมรหัสผ่าน" เพื่อกรอกข้อมูลและเลือกคำถามคำตอบที่ได้ให้ไว้เมื่อครั้งที่สมัครเข้ายื่นแบบฯ ถ้ากรอกข้อมูลได้ตรงกัน ระบบจะแสดงรหัสที่เคยตั้งไว้ เพื่อนำไปใช้ในการเข้าระบบยื่นแบบแสดงรายการภาษี
5. คำถาม : ลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ลืมคำถาม - คำตอบที่ได้เลือกไว้ จะขอรหัสผ่านใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีลืม คำถาม และหรือ คำตอบ ที่ได้เลือกไว้ ขอให้เข้าสู่ระบบ "ขอรหัสผ่านใหม่" ได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th=> บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต =>WHATS NEW =>ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2553 HOT! => รหัสผ่าน => ลืมรหัสผ่าน
6. คำถาม : ลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบแจ้งว่า ชื่อบิดา มารดา ไม่ตรงกับฐานข้อมูลกรมสรรพากร จะต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : ให้ติดต่อ สรรพากร Call Center : 1161 หรือที่ว่าการเขต/อำเภอ/กิ่งอำเภอ เพื่อขอตรวจสอบชื่อบิดา มารดา จากฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร์ที่คัดค้นข้อมูลด้วยเลขประจำตัวประชาชนของบุตร หากชื่อบิดา มารดาไม่ตรงกับฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร์ ให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร์ และส่งเอกสารที่ได้แก้ไขชื่อบิดา มารดาแล้วไปที่ สรรพากร Call Centerทางโทรสารหมายเลข 0-2272-9861 และหมายเลข 0-272-9858 เพื่อรวบรวมส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
7. คำถาม : ผู้สูงอายุยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบแจ้งวันเดือนปีเกิดเป็น 01/01/544 ต้องทำอย่างไร
คำตอบ : กรณีระบบแจ้งวันเดือนปีเกิดเป็น 01/01/544 ให้ผู้สูงอายุส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนเพื่อความชัดเจน ไปที่ สรรพากร Call Center ทางโทรสารหมายเลข 0-2272-9861 หรือ 0-2272-9858 เพื่อรวบรวมส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
8. คำถาม : ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรทางอินเทอร์เน็ต ได้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรแล้ว สามารถนำไปลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ตทันทีได้หรือไม่
คำตอบ :ไม่ได้ เนื่องจากระบบขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรทางอินเทอร์เน็ตมิใช่ระบบ Online จึงต้องปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันก่อน โดยสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ทางอินเทอร์เน็ตได้หลังจากได้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรแล้วประมาณ 2 วันทำการ
9. คำถาม : ชาวต่างชาติลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบแจ้งว่า ชื่อ หรือวัน/เดือน/ปีเกิด ไม่ตรงกับฐานข้อมูลกรมสรรพากร จะแก้ไขอย่างไร
คำตอบ : ยื่นแบบ ล.ป.10.1 ณ สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานประจำตั้งอยู่ก็ได้ โดยแนบภาพถ่ายหนังสือเดินทางพร้อมบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรฉบับเดิม (ถ้ามี) ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ เรื่องกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร
10. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต จะต้องกรอกชื่อเว็บไซต์หลัก ที่ใช้ทำธุรกรรมหรือไม่
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อเข้าสู่ระบบในหน้าจอแรกของการกรอกรายละเอียด ระบบ จะแจ้งข้อความว่า กรุณากรอกชื่อเว็บไซต์หลักที่ใช้ทำธุรกรรม หากมี กดปุ่ม OK หากไม่มีกดปุ่ม Cancel กรณีที่ผู้มีเงินได้มีเว็บไซต์หลักที่ใช้ในการประกอบธุรกรรม ให้ระบุชื่อเว็บไซต์ในรูปแบบของเว็บไซต์จริงเท่านั้น ก่อนกดปุ่ม ตกลง เพื่อทำรายการยื่นแบบต่อไป
11. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต บันทึกข้อมูลเบี้ยประกันชีวิตไม่ได้ ระบบแจ้งว่า "M003 เกินสิทธิที่ได้รับลดหย่อน" จะต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : ให้ตรวจสอบสาเหตุที่บันทึกข้อมูลไม่ได้ อาจเกิดจาก
1. ยังมิได้พิมพ์จำนวนเงินได้พึงประเมิน
2. บันทึกข้อมูลไม่ถูกต้อง โดยต้องบันทึกที่ค่าลดหย่อนจำนวนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
3. กรณีมีคู่สมรส หากภริยาไม่มีเงินได้ ได้รับลดหย่อนเพียง 10,000 บาท
4. กรณีมีเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ส่วน ก ข้อ 12 น้อยกว่า 90,000 บาท ให้บันทึกข้อมูลเท่ากับจำนวนเงินได้สุทธิ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นการยกเว้นเงินได้ หากมีเงินได้สุทธิเท่าใดก็ให้ได้รับยกเว้นเท่านั้นแต่ไม่เกิน 90,000 บาท
5. กรณีมีเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยเบี้ยประกันชีวิต (แบบปกติ) ใช้สิทธิลดหย่อนตามจริงแล้วไม่เกิน 100,000 บาท ให้นำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปกรอกในส่วนเบี้ยประกันชีวิต (แบบปกติ) ให้เต็มสิทธิ ก่อน (100,000 บาท) จึงใช้สิทธิลดหย่อนชีวิตแบบบำนาญส่วนที่เหลือได้อีกไม่เกิน 200,000 บาท โดยระบบจะแจ้งข้อความว่า M289 : ท่านไม่สามารถกรอกเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ เนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตมีค่าไม่ถึง 100,000 บาท และ M290 : เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเกินสิทธิลดหย่อน
12. คำถาม : คนพิการจะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท ได้หรือไม่
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่เป็นคนพิการ อายุไม่เกิน 65 ปี สามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ โดยสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากกรมสรรพากรมีการปรับปรุงฐานข้อมูลคนพิการที่ได้รับสิทธิเป็นปัจจุบัน ตามข้อมูลที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.)ส่งให้ หากไม่สามารถลงทะเบียนได้ เช่น เลขประจำตัวประชาชน หรือชื่อ นามสกุล ไม่ถูกต้อง ให้ติดต่อสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.) เพื่อขอแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.)จะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรทุกๆ 15 วัน ผู้มีเงินได้สามารถยื่นแบบฯ ได้หลังจากที่สำนักงานคุณภาพชีวิตส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร
13. คำถาม : บุคคลธรรมดาที่ไม่มีเงินเดือน นำส่งเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถกรอกรายการลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมได้ จะต้องทำอย่างไร
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีผู้มีเงินได้ไม่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญฯ นั้น ระบบจะไม่เปิดช่องให้กรอกรายการหักลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เนื่องจากระบบไม่สามารถตรวจสอบรายการดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้มีเงินได้ที่ประกันตนเอง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งไม่มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ให้ยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพาพื้นกรที่สาขา หรือสถานที่อื่นที่กรมสรรพากรกำหนดให้เป็นสถานที่รับแบบแสดงรายการและชำระภาษี พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วย
14. คำถาม : สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต จะกรอกรายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่าซื้อหน่วยลงทุนฯ อย่างไร
คำตอบ : กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และภริยานำเงินได้อื่น นอกจากเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณ หรือแยกคำนวณภาษีฉบับเดียวกันกับสามี เมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบจะทำการเฉลี่ยค่าซื้อหน่วยลงทุนฯ ให้อัตโนมัติ โดยแยกเป็น 2 รายการ ดังนี้
1. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ LTF ที่ซื้อจริง
2. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ LTF ที่มีสิทธิยกเว้นได้
15. คำถาม : ผู้มีเงินได้มีเงินปันผลจากกิจการปิโตรเลียม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต จะต้องกรอกรายการอย่างไร
คำตอบ : สำหรับปีภาษี 2553 การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีผู้มีเงินได้มีเงินได้ประเภทเงินปันผล ระบบจะแสดงข้อความให้กรอกเงินได้ในกระดาษทำการ โดยกดปุ่ม บันทึกเงินปันผล โดยเงินปันผลของกิจการปิโตรเลียมที่ได้เสียภาษี ในอัตราร้อยละ 50 จะไม่ได้รับเครดิตภาษี
16. คำถาม : คณะบุคคลมีเงินได้ ประเภทเงินปันผล ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถกรอกรายการเงินปันผล จะต้องทำอย่างไร
คำตอบ : เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 15 หรือมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อได้รับเงินปันผล ผู้ร่วมถือหุ้นทุกคนจะต้องนำเงินปันผลดังกล่าว มาถือเป็นเงินได้ของแต่ละคน และนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของตนเอง ดังนั้น เมื่อคณะบุคคลยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบจึงไม่เปิดช่องให้กรอกรายการเงินปันผล
17. คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ในหน้าจอบันทึกข้อมูลผู้จ่ายเงินได้ ให้กรอกอย่างไร
คำตอบ : ให้กรอกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ (กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นนิติบุคคล) หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน (กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา) ในแต่ละช่องตามประเภทเงินได้นั้นๆ โดยดูได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้ออกให้ กรณีเงินได้ประเภทหนึ่งๆ มีผู้จ่ายเงินได้หลายราย ให้เลือกกรอกเพียงรายเดียว
หากมีเงินได้ตามมาตรา 40(5) (6) เฉพาะแพทย์ และ (8) ที่ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระบบจะเตือนให้กรอกข้อมูลของผู้จ่ายเงินได้ ให้ Click ผ่านไปได้ โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลผู้จ่ายเงินได้
18. คำถาม : หลังจากได้ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แล้ว จะสามารถทราบได้อย่างไรว่า กรมสรรพากรได้รับแบบฯ แล้ว และถือว่าการยื่นแบบฯ นั้น เสร็จสมบูรณ์
คำตอบ : การยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตเมื่อทำรายการเสร็จสมบรูณ์ กรมสรรพากรจะยืนยันข้อมูลและตอบรับการยื่นแบบฯ โดยแจ้งผลการยื่นแบบพร้อมหมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบให้ทราบทันทีที่หน้าจอ และหากมีภาษีที่ต้องชำระ การยื่นแบบฯ จะสมบรูณ์ เมื่อกรมสรรพากรได้รับชำระภาษีที่ท่านชำระผ่านหน่วยรับชำระภาษีต่างๆ
19. คำถาม : ภายหลังจากได้ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 จะสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินและแบบฯ ได้เมื่อใด หากยังไม่ได้ดำเนินการจัดพิมพ์ จะสามารถจัดพิมพ์ได้จนถึงเมื่อใด
คำตอบ : สำหรับผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถดำเนินการจัดพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน และแบบฯ ด้วยตนเองได้ทางเว็บไซต์ ภายหลังจากวันที่ยื่นแบบฯ เสร็จสมบูรณ์ประมาณ 2 วันทำการ โดยเลือกหัวข้อ "พิมพ์แบบฯ / ใบเสร็จ" และ Log in เข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่าน ให้สังเกตวันที่ที่ปรากฏอยู่หน้าจอว่า สามารถพิมพ์ได้ถึงวันที่เท่าใด (สำหรับการพิมพ์แบบฯ สามารถพิมพ์ได้ทันทีที่ทำรายการเสร็จ แต่ถ้าหากออกจากหน้าจอพิมพ์แบบฯ มาแล้ว จะต้องรอให้ประมวลผลเสียก่อนประมาณ 2 วันทำการ) ทั้งนี้ สามารถจัดพิมพ์ใบเสร็จรับเงินและแบบฯ ย้อนหลังได้ไม่เกิน 1 ปี
หากประสงค์จะพิมพ์แบบฯ หลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถดำเนินการติดต่อขอคัด
แบบฯ ได้ที่สำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร
20. คำถาม : ในกรณีที่พบว่า รายการข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ไม่ถูกต้อง ต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : กรณีที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาภายหลังพบว่า ข้อมูลที่แจ้งไว้นั้นไม่ถูกต้อง สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. กรณีที่เป็นแบบฯ ที่มีภาษีชำระ แต่ยังไม่ได้ชำระ ให้ Log in เข้าสู่ระบบ จะปรากฏสถานะแบบค้างชำระให้ Double Click ที่ หมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ จะปรากฏแบบฯ ขึ้นมา ให้ทำการยกเลิกการยื่นแบบฯ ฉบับนั้น โดยกดปุ่ม ยกเลิกการยื่นแบบ(ที่ด้านล่างของแบบ) แล้วทำการยื่นแบบฯ ใหม่
2. กรณีที่เป็นแบบฯ ที่มีภาษีชำระและได้ชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นแบบฯ ที่ไม่มีภาษีชำระ หรือเป็นแบบฯ ที่มีเงินคืนภาษี ถือว่าการยื่นแบบเสร็จสมบูรณ์ ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกการยื่นแบบฯ ได้ ให้ทำรายการยื่นแบบฯ ใหม่ โดยการ Log in เข้าสู่ระบบ และบันทึกรายการข้อมูลใหม่ทั้งหมด โดยกรมสรรพากรจะถือว่า แบบฯที่ยื่นฉบับล่าสุด เป็นแบบฯ ที่ถูกต้องที่สุด แต่หาก เป็นแบบฯ ที่มีเงินคืนภาษี จะทำให้การได้รับเงินคืนช้าลงเล็กน้อย เพราะเป็นแบบฯ ที่ติดเงื่อนไข เนื่องจากมีการยื่นแบบฯ มากกว่า 1 ฉบับในปีภาษีเดียวกัน
21. คำถาม : ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แล้ว หากพบว่าที่อยู่ที่แจ้งไว้ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับเช็คคืนภาษีจากกรมสรรพากร ต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต หากที่อยู่ที่แจ้งไว้ไม่เป็นปัจจุบัน หรือต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นที่อยู่ที่สะดวกในการติดต่อ สามารถแก้ไขได้ทันทีที่หน้าจอก่อนทำรายการยื่นแบบฯ เท่านั้น
หากดำเนินการยื่นแบบฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขที่อยู่ได้ ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะจัดส่งหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเช็ค ไปให้ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ตามหน้าแบบ ภ.ง.ด.90/91 ซึ่งหากไม่มีผู้รับ ทางไปรษณีย์จะส่งคืน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามแบบฯ ดังนั้น ผู้ขอคืนสามารถติดต่อขอรับเช็คฉบับดังกล่าวได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ส่วนกรรมวิธีและคืนภาษี
22. คำถาม : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องนำส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ในการหักค่าลดหย่อนให้กรมสรรพากรหรือไม่ หากไม่ต้องนำส่งต้องเก็บรักษาเอกสารไว้นานเท่าใด และกรมสรรพากรมีวิธีการตรวจสอบข้อมูลอย่างไร
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องนำส่งเอกสารหลักฐานแต่อย่างใด แต่ผู้เสียภาษียังคงต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ในการลดหย่อนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี กรณีมีเหตุสงสัย เจ้าหน้าที่สรรพากรอาจขอตรวจสอบเอกสารหลักฐาน จะต้องนำมาแสดงตามที่ได้ใช้สิทธิ์ไว้ ซึ่งกรมสรรพากรมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและภายนอก ดังนั้น หากข้อมูลใดไม่สามารถสืบค้นได้ จึงจะขอดูเอกสารหลักฐานเฉพาะบางประเด็นที่จำเป็นเท่านั้น
23. คำถาม : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต จะนำไฟล์ที่บันทึกข้อมูลจากโปรแกรมช่วยคำนวณมายื่นแบบฯ ได้หรือไม่
คำตอบ : โปรแกรมช่วยคำนวณแบบ ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2553 ไม่สามารถนำมายื่นแบบฯ ได้ และ ไม่สามารถช่วยคำนวณภาษี ในกรณียกเว้นเงินได้ สำหรับคนพิการอายุไม่เกิน 65 ปี ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพลภาพ และกรณีไม่นำเงินค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายแรงงานมารวมคำนวณภาษี (ใบแนบ)
ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเลือกแฟ้มข้อมูล ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่บันทึกจากโปรแกรม ภ.ง.ด.90/91 Offline มา Upload ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตได้
24. คำถาม : การสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี มีช่องทางใดบ้าง
คำตอบ : 1. เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th =>E-FILING=> สอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี หรือ www.rd.go.th =>CONTACT US => สอบถามปัญหา / แนะนำ/ร้องเรียน
2. สรรพากร Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1161
3. สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏ
ตามการยื่นแบบฯ
25. คำถาม : ทำไมวันที่ 1 เมษายน 2554 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ได้
คำตอบ : เนื่องจากการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นการให้บริการสำหรับการยื่นแบบฯ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 31 มีนาคม 2553 เมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แล้วต้องไปยื่นแบบฯ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น โดยต้องเสียค่าปรับดังนี้
ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับ 100 บาท
เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับ 200 บาท
หากมีเงินภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย
RD Call Center 1161
บริการอย่างเป็นมิตร เพื่อนคู่คิดทางภาษี