สารพันปัญหา "ค่าลดหย่อน"
1. ชื่อเรื่อง : สามีไม่มีเงินได้ภริยานำไปหักลดหย่อนได้
คำถาม : ภริยามีเงินได้ แต่สามีไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนอย่างไร และแจ้งว่ารวมหรือแยกยื่น
คำตอบ : ภริยาหักลดหย่อนฐานะผู้มีเงินได้ 30,000 บาทและหักลดหย่อนสามีได้อีก 30,000 บาทรวมเป็น 60,000 บาทและในการยื่นแบบให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้
2. ชื่อเรื่อง : ภริยาจดคณะบุคคลไม่มีเงินได้อื่น สามีนำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม : ภริยาจดคณะบุคคลกับบุตรผู้เยาว์ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีสามารถนำภริยามาหักลดหย่อนกรณีภริยาไม่มีเงินได้ได้หรือไม่
คำตอบ : ได้ กรณีภริยาจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคล เงินได้ของคณะบุคคลต้องไปเสียภาษีในนามคณะบุคคล และเงินส่วนแบ่งกำไรจากคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากภริยาไม่มีเงินได้จากแหล่งเงินได้อื่น ก็ถือว่าภริยาไม่มีเงินได้ สามีสามารถนำมาหักลดหย่อนในฐานะคู่สมรสของผู้มีเงินได้จำนวน 30,000 บาท
3. ชื่อเรื่อง : บุตร 4 คน และบุตรคนแรกเสียชีวิต ให้หักลดหย่อนบุตรได้เฉพาะบุตรที่ยังมีชีวิต
คำถาม : มีบุตร 4 คน เกิดหลัง พ.ศ. 2522 คนแรกตาย นำบุตรคนที่ 4 มาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : หักได้ หากบุตรคนที่ 4 เป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการหักลดหย่อนเพราะการนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ตาม มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
4. ชื่อเรื่อง : บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาไม่ได้
คำถาม : บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ สามารถนำมาหักลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรได้หรือไม่
คำตอบ : การหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาของบุตรจำนวน 2,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นการศึกษากับโรงเรียนหรือสถานศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นอุดมศึกษา และหากศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษา (อนุปริญญาขึ้นไป รวมถึงหลักสูตรเนติบัณฑิต) ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี
ดังนั้น บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ จึงสามารถหักลดหย่อนในฐานะบุตร ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เพียงคนละ 15,000 บาท แต่ไม่สามารถหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตร จำนวน 2,000 บาท ได้ ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
5. ชื่อเรื่อง : บุตรจบการศึกษาระหว่างปีนำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม : สามีภริยาสามารถนำบุตรที่ไม่มีเงินได้และจบการศึกษาระหว่างปีมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
6.ชื่อเรื่อง : มารดาไม่มีเงินได้ บิดาใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนมารดาในฐานะคู่สมรส บุตรผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูมารดาได้
คำถาม : สามีมีเงินได้ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักค่าลดหย่อน 30,000 บาท ในฐานะคู่สมรส บุตรมีเงินได้ได้นำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีอีก 30,000 บาท กรณีนี้สามารถหักค่าลดหย่อนในฐานะคู่สมรสและฐานะมารดาของผู้มีเงินได้ ใช่หรือไม่
คำตอบ : บุตรมีเงินได้สามารถนำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีได้อีก 30,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)
7. ชื่อเรื่อง : บิดามารดาตายในระหว่างปีภาษีนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้
คำถาม : กรณีบิดามารดาถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี(เช่น ตายในเดือนกันยายน 2552) หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 บุตรจะใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีบิดามารดาตายในระหว่างปีภาษี หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ให้บุตรเพียงคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิหักลดหย่อนได้โดยแนบ แบบ ล.ย.03 และสำเนาใบมรณบัตร พร้อมกับการยื่นแบบฯ
8. ชื่อเรื่อง : บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้
คำถาม : กรณีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว บุตรสามารถนำมาหักลดหย่อนคนละ 30,000 บาท ได้หรือไม่ ถ้าได้จะใช้หนังสือทะเบียนต่างด้าวใช่หรือไม่ เพราะคนต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน
คำตอบ : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือมารดาที่เป็นคนต่างด้าว หากเข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) และได้ขอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ใช้เป็นหลักฐานประกอบการหักลดหย่อนได้
9. ชื่อเรื่อง : การหักลดหย่อนคู่สมรส บุตรและบุพการีที่อยู่ต่างประเทศ ของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศ
คำถาม : ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้เท่าใด
คำตอบ : กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศและสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศแต่หากบุตรศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศให้หักลดหย่อนเสมือนบุตรที่มิได้ศึกษา ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) โดยบิดามารดาจะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ด้วย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาได้
10.ชื่อเรื่อง : บุตรพิการมีเงินได้เกิน 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้
คำถาม : นาย ก. ทำงานมีเงินได้จากเงินเดือนจดทะเบียนสมรสกับภริยา ซึ่งเป็นคนพิการ และไม่มีเงินได้ มีบุตรพิการ อายุ 19 ปี บุตรพิการมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำปีละ 16,000 บาท ภริยาและบุตรได้รับบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นาย ก.จะนำภริยาและบุตรซึ่งเป็นคนพิการดังกล่าวมาหักลดหย่อนในปีภาษี 2552 ได้อย่างไร
คำตอบ : นาย ก.สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภริยาและบุตร ซึ่งเป็นคนพิการ ในปีภาษี 2552 ได้ ดังนี้
1. ลดหย่อนภริยาในฐานะคู่สมรสไม่มีเงินได้ จำนวน 30,000 บาท ตามมาตรา 47(1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการในฐานะคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ซึ่งเป็นคนพิการได้อีกจำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ลดหย่อนบุตร จำนวน 15,000 บาท ไม่ได้ เนื่องจากบุตรมีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เกินกว่า 15,000 บาท ต่อปี ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการในฐานะบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ซึ่งเป็นคนพิการ และมีเงินได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ได้จำนวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182)
อย่างไรก็ตาม ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการจะต้องแนบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04) และสำเนาบัตรประจำตัวคนพิการที่แสดงให้เห็นชื่อผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ดูแลคนพิการ
11.ชื่อเรื่อง : ชาวต่างชาติมาทำงานในไทยหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้
คำถาม : ชาวต่างชาติมาทำงานในไทยจะสามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้หรือไม่
คำตอบ : ได้ ตามเงื่อนไข คือต้องมีกำหนดเวลาเอาประกัน 10 ปี ขึ้นไป และทำประกันชีวิตไว้กับผู้ประกอบกิจการรับประกันชีวิตในราชอาณาจักร ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
12.ชื่อเรื่อง : สมรสระหว่างปี คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีเบี้ยประกันชีวิตนำมาหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : นาย ก มีเงินได้จากการขายของ สมรสระหว่างปี คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ทำก่อนสมรส นาย ก สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : ปีที่ทำการสมรส นำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนไม่ได้ เนื่องจากความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี แต่ปีถัดไปสามารถนำมาหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
13.ชื่อเรื่อง : กรมธรรม์ประกันชีวิตของบุตรและบิดามารดา นำมาหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : ผู้มีเงินได้ทำประกันชีวิตให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะและบิดาสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : เบี้ยประกันชีวิตของบุตรและบิดา ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เนื่องจาก ตามมาตรา 47(1)(ง)แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้เท่านั้น
14.ชื่อเรื่อง : ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 หลายฉบับ เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต
คำถาม : นาย ก. ทำกรมธรรม์ประกันชีวิต กำหนดเวลา 10 ปี กับบริษัทผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 และวันที่ 1 เมษายน 2552 และมีเงื่อนไขจะได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เป็นรายปี ต่อมา ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวจากกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และเมื่อรวมกันแล้วเกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. จะต้องนำเงินได้ที่ได้รับทั้งหมดไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร
คำตอบ : 1. ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิต มิได้เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับเงินได้ดังกล่าวทั้งกรณีที่ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เกิน และไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป การใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ผู้มีเงินได้จะต้องได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ตามข้อ 2(2)(ก) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ดังนั้น เมื่อ นาย ก. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิต ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และเมื่อรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกแล้วเกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกเท่านั้น นาย ก. ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมปรับปรุงค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเกินไป เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมของปีภาษีนั้น พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)
15.ชื่อเรื่อง : ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำปี 2552 หลายฉบับ แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต
คำถาม : นาย ก. ทำกรมธรรม์ประกันชีวิต กำหนดเวลา 10 ปี กับบริษัทผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 และวันที่ 1 เมษายน 2552 และมีเงื่อนไขจะได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เป็นรายปี ต่อมา ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวจากกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. จะต้องนำเงินได้ที่ได้รับทั้งหมดไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร
คำตอบ : 1. ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิต มิได้เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับเงินได้ดังกล่าวทั้งกรณีที่ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์เกิน และไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป การใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ผู้มีเงินได้จะต้องได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ตามข้อ 2(2)(ก) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ดังนั้น ถึงแม้ว่า นาย ก. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิต ฉบับที่ 2 เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่เมื่อรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนฯ จากกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี นาย ก. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามปกติ ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม
16.ชื่อเรื่อง : การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมที่ทำตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป
คำถาม : การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปก่อนปี 2551 กับที่ได้จ่ายไปตั้งแต่ปี 2551 หรือปี 2552 แตกต่างกันอย่างไร และในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 สำหรับปีภาษี 2552 หากบริษัทประกันชีวิตไม่ได้แยกจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปว่า เป็นเบี้ยประกันชีวิตเท่าใด เป็นเบี้ยประกันเพิ่มเติมอย่างอื่นเท่าใดจะต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ให้ยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ เฉพาะกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น
กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม หากเป็นกรมธรรม์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ไม่สามารถนำไปใช้คำนวนในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศฉบับดังกล่าว ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต และกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม หลักฐานต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน หากผู้รับประกันภัยไม่ได้แยกจำนวนเงิน ให้นำหลักฐานดังกล่าวไปให้ผู้รับประกันภัยแยกจำนวนเงินให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะนำมาเป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้ เนื่องจากไม่เป็น ตามข้อ 4 ของประกาศฉบับดังกล่าว
17.ชื่อเรื่อง : ลักษณะการประกันสุขภาพบิดามารดา
คำถาม : การประกันสุขภาพบิดามารดา ต้องมีลักษณะอย่างไร จึงจะได้รับยกเว้นเงินได้
คำตอบ : การประกันสุขภาพบิดามารดา ต้องมีลักษณะ ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้
1. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
2. การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
3. การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
18.ชื่อเรื่อง : หลักฐานการยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
คำถาม : การใช้สิทธิ์ยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อย ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฯ
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้
1. ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
2. ชื่อ และ นามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)
3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้เอาประกันภัย
4. จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2
5. จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
19.ชื่อเรื่อง : เงินสะสมกองทุนเงินสะสมสมทบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสะสมทรัพย์หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : มหาวิทยาลัยออกระเบียบว่าด้วยกองทุนเงินสะสมสมทบสำหรับพนักงานและลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสะสมทรัพย์ สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยมหาวิทยาลัยจะหักเงินเดือนของพนักงานทุกครั้งที่จ่ายเพื่อนำส่งเข้ากองทุน พนักงานสามารถนำเงินสะสมดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีได้หรือไม่
คำตอบ : พนักงานไม่มีสิทธินำเงินสะสมที่ถูกหักไว้ไปลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินสะสมตามระเบียบของมหาวิทยาลัยไม่เข้าลักษณะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
20.ชื่อเรื่อง : ภริยามีเงินได้หลายประเภทซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF
คำถาม : ภริยามีเงินได้ประเภทเงินเดือนและเงินปันผล สามีมีเงินเดือนอย่างเดียว การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF ของภริยาจะซื้อได้ อัตราร้อยละ 15 จากเงินได้เงินเดือนรวมกับเงินปันผลหรือไม่ เนื่องจากเงินปันผลต้องถือเป็นเงินได้ของสามี
คำตอบ : การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF เป็นสิทธิของผู้มีเงินได้ เมื่อภริยาเป็นผู้มีเงินได้ แม้จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของสามี สิทธิดังกล่าวยังเป็นของภริยาอยู่เช่นเดิม ภริยาสามารถซื้อได้ตามสัดส่วนของเงินได้ของตนเอง
21.ชื่อเรื่อง : ผู้สูงอายุซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF
คำถาม : การยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น คำนวณจากเงินได้หลังหรือก่อนหักการยกเว้นภาษีกรณีเงินได้สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ และเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
คำตอบ : กรณีซื้อหน่วยลงทุนใน (RMF) หรือ (LTF) ที่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษี กรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
22.ชื่อเรื่อง : ค่าซื้อพันธบัตรรัฐบาล นำมาหักลดหย่อนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้
คำถาม : ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
คำตอบ : ไม่ได้ แต่ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) และ (ฉบับที่ 171)
23.ชื่อเรื่อง : สามีมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้คนละกึ่งหนึ่ง
คำถาม : สามีมีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี จำนวน 30,000 บาท และภริยามีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี จำนวน 120,000 บาท ภริยาทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านกับธนาคารและผ่อนชำระเงินกู้เพียงผู้เดียว ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ภริยาสามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวเพียงผู้เดียวทั้งจำนวน และสามีไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ถูกต้องหรือไม่
คำตอบ : สามีภริยามีเงินได้เฉพาะ ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียวเกิน จำนวน 100,000 บาท มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ตามมาตรา 56(4) แห่งประมวลรัษฎากร หากสามีมิได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสามารถลดได้โดยการเปรียบเทียบปรับ ตามมาตรา 3 ทวิ(1) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หากความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ภริยาและสามีต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(53) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)
24.ชื่อเรื่อง : ภริยาไม่มีเงินได้ทำสัญญากู้ยืมเงินคนเดียว สามีไม่มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
คำถาม : นาง ม. ภริยาของนาย ธ. ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเพียงคนเดียว โดยนาย ธ. มิได้เป็นผู้กู้ร่วม และนาง ม. ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในปีภาษี 2550-2551 ต่อมาในปีภาษี 2552 นาง ม.ไม่มีเงินได้ นาย ธ. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้หรือไม่
คำตอบ : หากนาย ธ. มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วม นาย ธ.ย่อมมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ แต่เมื่อนาย ธ. มิได้มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับนาง ม. จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามข้อ 2(8) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) ดังนั้น ในปีภาษี 2552 นาย ธ. จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
25.ชื่อเรื่อง : หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน
คำถาม : หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน จะหักลดหย่อนอย่างไร
คำตอบ : กรณีผู้มีเงินได้ 2 คนร่วมกันกู้ยืมเงิน ให้หักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ได้คนละกึ่งหนึ่ง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่าย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ.2550) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165), (ฉบับที่ 166), (ฉบับที่ 167)
26.ชื่อเรื่อง : โอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ปี 2552 ที่มีการจ่ายค่างวดบางส่วนในปี 2551 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเงินที่จ่ายใน ปี 2552
คำถาม : นาย ก. ประกอบกิจการรับจ้าง ซื้อบ้านใหม่จากบริษัทเจ้าของโครงการ ราคาบ้าน 2,000,000 บาท ตกลงซื้อบ้านเมื่อเดือนตุลาคม 2551 โดยจ่ายเงินจองวันทำสัญญาเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท และต้องจ่ายเงินดาวน์ จำนวน 480,000 บาท ซึ่งแบ่งจ่าย 12 งวดๆ ละ 40,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกเดือนพฤศจิกายน 2551 รวมชำระเงินดาวน์ ในปี 2551 ทั้งสิ้น 2 เดือน เป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท เงินดาวน์อีก 10 งวด ชำระตั้งแต่เดือนมกราคม ตุลาคม 2552 เป็นจำนวนเงินรวม 400,000 บาท เงินส่วนที่เหลือ 1,400,000 บาท นาย ก. ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเดือนพฤศจิกายน 2552 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ในเดือนดังกล่าว นาย ก.จะใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านดังกล่าวอย่างไร
คำตอบ : การยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านใหม่ สำหรับปีภาษี 2552 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178) นาย ก. ต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าของโครงการที่ขายบ้านว่าได้มีการจ่ายเป็นค่าซื้อบ้านดังกล่าวในปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินดาวน์ที่จ่ายในปี 2552 จำนวน 400,000 บาทและเงินที่กู้จากธนาคารเพื่อจ่ายเป็นค่าซื้อบ้านอีกจำนวน 1,400,000 บาท โดยหนังสือรับรองฯ ต้องมีข้อความอย่างน้อยตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ ฉบับดังกล่าว
27.ชื่อเรื่อง : ทำสัญญาซื้อบ้านใหม่คนเดียวแต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ 2 คน ในปี 2552 ได้รับยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านเฉพาะผู้มีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
คำถาม : บิดามีเงินได้ทำสัญญาซื้อบ้านใหม่กับเจ้าของโครงการ และมีการจ่ายค่าซื้อ รวมทั้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 โดยระบุชื่อบิดาและบุตรซึ่งเป็นผู้มีเงินได้เช่นกัน บิดาได้รับหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้อบ้านใหม่ที่เจ้าของโครงการระบุชื่อบิดาเป็นผู้ซื้อ บิดาและบุตรจะหักลดหย่อนค่าซื้อบ้านที่ได้รับยกเว้นเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท อย่างไร
คำตอบ : สิทธิการยกเว้นเงินได้ค่าซื้อบ้านใหม่ สำหรับปี ภาษี 2552 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท นั้น ผู้ใช้สิทธิต้องเป็นผู้มีเงินได้ ซื้อบ้านใหม่ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ และมีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จากผู้ขาย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2522) ประกอบกับข้อ 1(1) และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)
ดังนั้น เมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ 2 คน ซึ่งเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวม บิดาและบุตรจึงมีสิทธิได้รับยกเว้นเงินได้ตามส่วนของกรรมสิทธิ์แต่รวมกันทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 300,000 บาท แต่เนื่องจากบิดามีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้อฯ เพียงคนเดียว บิดาจึงมีสิทธิหักลดหย่อนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามส่วนของกรรมสิทธิ์ของตนเท่านั้น
28.ชื่อเรื่อง : ซื้อบ้านใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 ไม่ได้รับยกเว้นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
คำถาม : นาย ก. ประมูลซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ในราคา 800,000 บาท จากเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายให้กับประชาชนทั่วไป แต่สิ่งปลูกสร้างยังสร้างไม่เสร็จ หากจะทำการก่อสร้างต่อต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 การซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จดังกล่าว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวนเงิน 300,000 บาท หรือไม่
คำตอบ : เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างยังก่อสร้างไม่เสร็จ จึงยังไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นแล้ว ดังนั้น เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552)
อย่างไรก็ตาม หากได้ทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และพร้อมอยู่อาศัยได้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท
29.ชื่อเรื่อง : คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม
คำถาม : กรณีภริยาไม่มีเงินได้ แต่เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม สามีสามารถนำเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ภริยาชำระ มารวมหักลดหย่อนภาษีเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ตนชำระด้วยได้หรือไม่
คำตอบ : ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาทต่อคน ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
30.ชื่อเรื่อง : ข้อแตกต่างในการหักลดหย่อนระหว่างเงินบริจาคและการบริจาคเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา
คำถาม : ใบอนุโมทนาบัตรเขียนว่า มอบเงินเพื่อเป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณรและถวายทุนการศึกษา ของโรงเรียนวัดรัฐบาล ถือเป็นเงินบริจาคหรือสนับสนุนเพื่อการศึกษา
คำตอบ : ถือว่าเป็นเงินบริจาค ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาต้องเป็นการจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและเป็นค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547
31.ชื่อเรื่อง : บริจาคเงินเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนหักลดหย่อนเงินบริจาคไม่ได้
คำถาม : นาย ก. บริจาคเงินเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตามหลักสูตรโครงการภาคภาษาอังกฤษของโรงเรียนของบุตรตามจำนวนที่โรงเรียนกำหนด และโรงเรียนออกใบเสร็จรับเงิน โดยใช้ใบเสร็จรับเงินในราชการสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประทับชื่อโรงเรียนในช่องรายการ ที่ทำการ และออกในนามผู้ปกครองและชื่อเด็กนักเรียน ซึ่งระบุรายการว่า เงินบริจาคเพื่อพัฒนาโรงเรียน ปีการศึกษา 2551 นาย ก. สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาจำนวน 2 เท่าได้หรือไม่
คำตอบ : การบริจาคเงินให้สถานศึกษา ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 476) พ.ศ.2551 พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. การบริจาคเงินให้สถานศึกษาทุกกรณีที่จะสามารถนำมายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ
2. ต้องเป็นการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ ตามรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด สำหรับรายการดังต่อไปนี้
(1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
(2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
(3) จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษาการประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา
3. ใบเสร็จรับเงิน สถานศึกษาที่ได้รับบริจาคต้องออกใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาเท่านั้น โดยระบุรายการบริจาคตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคให้ชัดเจน เช่น บริจาคเงินเพื่อสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือวัสดุอุปกรณ์ แบบเรียน ตำรา ให้เป็นส่วนกลางของการศึกษานั้น เป็นต้น
ดังนั้น การบริจาคเงินเพื่อพัฒนาโรงเรียนของบุตรดังกล่าว เป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรโครงการภาคภาษาอังกฤษที่โรงเรียนบังคับจัดเก็บเป็นจำนวนเงินแน่นอนจากนักเรียนทุกคน แม้ว่าจะมีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาระบุว่า เป็นเงินบริจาคก็ไม่ถือเป็นเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว และไม่เป็นเงินบริจาคที่จะสามารถนำไปลดหย่อน ในร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร
32.ชื่อเรื่อง : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้
คำถาม : นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มีเงินภาษีต้องชำระ จำนวน 500 บาท แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต่อมาต้องการเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ได้แสดงความประสงค์ไว้ สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ : ไม่ได้ เมื่อผู้เสียภาษีแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง ตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 176)
อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ฉบับปกติ ไม่ได้แสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใด ต่อมาผู้เสียภาษีมีความประสงค์จะแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้
RD Call Center 1161
บริการอย่างเป็นมิตร เพื่อนคู่คิดทางภาษี