เมนูปิด

โครงการถวายเทียนพรรษาประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ วัดต่าง ๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม ๕ วัด

เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ จัดโครงการถวายเทียนพรรษาประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ วัดต่าง ๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม ๕ วัด โดยนายไพฑูรย์  วงษ์สงฆ์ สรรพากรพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ประธานจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นอกจากนี้ยังเป็นการทำนุบำรุง ส่งเสริมพระพุทธศาสนา สร้างความเป็นสิริมงคลสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่บุคคลากรทุกคน ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีภายในหน่วยงาน 
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ วัดที่ ๔ "สำนักสงฆ์เขาพรานธูป" 
หากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของสำนักสงฆ์เขาพรานธูป แห่งบ้านเสือนอน ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เสมือนการกล่าวถึงประวัติของ พระครูสังฆรักษ์นน จนฺทวิโร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "หลวงปู่นนท์ "
ท่านเกิดในตระกูล "กล่ำเรือง" เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๗๑ ปีมะแม ที่บ้านนาพรม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก
เมื่ออายุ ๒๑ ปีได้อุปสมบทที่วัดประดิษฐวนาราม(วัดนาพรม) จ.เพชรบุรีโดยมี หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังบวชได้อยู่ปรนนิบัติ "หลวงพ่อหวล จันทสิริ" เจ้าอาวาสวัดนาพรม ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง พร้อมๆกับหลวงพ่อยิด ซึ่งหลวงพ่อหวลได้ถ่ายทอดวิชาทางด้าน สมุนไพร, วิชาทำปลัดขิก และการลงจารอักขระให้
หลวงพ่อนนท์ได้จาริกแสวงบุญอยู่นาน จึงได้กลับมาที่วัดหนองจอก ซึ่งในขณะนั้น หลวงพ่อยิดท่านมีชื่อเสียงด้านปลัดขิก และมีลูกศิษย์มากมาย  จึงให้หลวงพ่อนนท์ช่วยลงอักขระลงบนปลัดขลิก ซึ่งการลงอักขระนี้ หลวงพ่อยิดต้องเลือกคนที่ไว้ใจได้ และมีความสามารถ เพื่อให้วัตถุมงคลมีความศักดิ์สิทธิ์ 
หลังจากหลวงพ่อยิดมรณภาพ หลวงพ่อนนท์ จึงออกธุดงค์ต่อและได้ร่ำเรียนศึกษาวิชา รักษากระดูก และวิชาแก้คุณไสย จากนั้นได้มาจำพรรษาที่วัดมาลัยทับใต้ และที่วัดนี้เอง ท่านได้สร้างปลัดขลิกในนามของท่านเอง เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน โดยท่านได้อยู่พัฒนาวัดมาลัยทับใต้ต่อมาอีกหลายปี จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงได้เตรียมตัว จาริกอีกครั้ง  
ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างมาขอให้ท่านมาอยู่เป็นประธานช่วยจัดสร้างสำนักสงฆ์เขาพรานธูป อ.หัวหิน หลวงพ่อนนท์จึงได้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์เขาพรานธูป ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา
สำนักสงฆ์เขาพรานธูป เดิมที่มีพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ โดยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนชาวบ้านที่มาทำไร่มีพลังศรัทธาในพุทธศาสนาถวายเพื่อสร้างที่พักสงฆ์ และเมื่อสร้างเป็นวัดพื้นที่เล็กเกินไปจึงทยอยซื้อปัจจุบันมีพื้นที่ ๓๕ ไร่ กำลังดำเนินการยื่นเรื่องขอตั้งเป็นวัด
หลวงปู่นนท์ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่มาอยู่นั้น สำนักสงฆ์แห่งนี้ปลูกเป็นเพิงหมาแหงน พอหลบแดดหลบฝนได้เท่านั้น เหมือนกระท่อมชาวบ้านที่มาทำสวนทำไร่ ส่วนเครื่องใช้อื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง มีเหมือนไม่มี คือ ใช้ได้ไม่สมบูรณ์แต่ก็ต้องใช้
ตอนที่มาอยู่สำนักสงฆ์แห่งนี้ มีเพียงแค่ย่ามกับบาตรเท่านั้น ครั้งแรกตั้งใจมาพักภาวนาไม่กี่วันก็จะไป แต่ระหว่างภาวนานั้นเกิดนิมิตว่า มีโบสถ์ มีศาลา มีกุฏิอยู่อย่างสมบูรณ์ จึงตั้งใจอยู่ต่อเพื่อสร้างเป็นวัด เริ่มจากพิมพ์ซองบอกบุญ ๑,๐๐๐ ใบ แจกชาวบ้านแจกไปเรื่อยๆ ไม่ได้ออกวัตถุมงคลใดๆ เมื่อลูกศิษย์รู้ข่าวก็มาช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยตามกำลังศรัทธา มีน้อยสร้างน้อย มีมากสร้างมาก สร้างไปสร้างมาสุดท้ายเกือบจะสมบูรณ์กลายเป็นวัดในระยะเวลา ๖ ปี
ส่วนที่มาของชื่อ"เขาพรานธูป"นั้น ในอดีตพื้นที่นี้เป็นอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีนายพรานมาหาสัตว์ป่าจำนวนมาก เมื่อได้แล้วก็จะบรรทุกเกวียนออกไป แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบเมื่อผ่านช่วงเขาบริเวณนี้ ธูปซึ่งเป็นส่วนประกอบของเกวียน จะต้องหลุดต้องหัก พรานต้องขึ้นไปตัดไม้มาทำธูปเกือบทุกครั้ง บ่อยครั้งเข้าจึงเรียกว่า “เขาพรานธูป” ไม่ได้เกี่ยวกับธูปเทียนที่บูชาพระแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูลจาก :หนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์



ปรับปรุงล่าสุด: 07-06-2024