เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315)
พ.ศ. 2540
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลปัจจุบัน

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรกำหนดรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิ

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540”

                      มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป

                      มาตรา 3  ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 294) พ.ศ. 2539

                      มาตรา 4  รายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

                      (1) มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์ โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกิน คันละหนึ่งล้านบาท

                      (2) ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มี ที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกินคันละสาม หมื่นหกพันบาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละ หนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่า ไม่ถึงหนึ่งวัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า ทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วย

                      มาตรา 5  บทบัญญัติมาตรา 4(1) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากซื้อหรือ การเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่

                      (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายหรือ ให้เช่าซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า หรือ

                      (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่า สึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

                      “มาตรา 5/1 บทบัญญัติมาตรา 4 (2) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากการเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ได้เช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 504 (พ.ศ. 2553) ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป สำหรับการเช่ารถยนต์เพื่อการให้เช่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ที่ได้กระทำก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ)

                      มาตรา 6  บทบัญญัติมาตรา 4 ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เป็นมูลค่าต้นทุนของ หรือค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่า ด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่เกิดจากการซื้อ การเช่าซื้อ หรือการเช่าที่ได้ทำสัญญาก่อน วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2539

                      มาตรา 7  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 294) พ.ศ. 2539 ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 มีผลทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่สามารถนำรายจ่ายที่เป็นมูลค่าทรัพย์สินของหรือ ค่าเช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิได้ ซึ่งก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 294) ใช้บังคับ การนำมูลค่าทรัพย์สิน ของหรือค่าเช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายสามารถกระทำได้ ทำให้เกิดผล กระทบต่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการขายหรือให้เช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์ โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ซึ่งมีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้าหรือเพื่อการให้เช่า และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้ใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่ง ได้ทำสัญญาซื้อ เช่าซื้อ หรือเช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวก่อนวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 สมควรกำหนดข้อยกเว้นมิให้ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกับกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ประกอบกิจการซื้อขาย ให้เช่าซื้อ หรือให้เช่ารถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าว ไว้เพื่อเป็นสินค้าหรือให้เช่า และกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ทำสัญญาซื้อ เช่าซื้อ หรือเช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวเพื่อใช้ในกิจการของตนเองก่อนวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 รวมทั้งสมควรปรับปรุงการคิดอัตราค่าเช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึง จำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 114 ตอนที่ 69 ก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2540)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022