เมนูปิด
Untitled Document

สารพันคำถามเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51

Q1 : บุคคลธรรมดา จะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม่
A1 : แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 กำหนดให้นิติบุคคลที่รอบระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ

Q2 : ใครมีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51
A2 : ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ได้แก่
1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
2. บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เสียภาษีจากกำไรสุทธิ(ขาดทุนสุทธิ) จริงในครึ่งปีแรก

Q3 : กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม2561 เมื่อใด
A3 : หากยื่นแบบฯ (ฉบับกระดาษ) ผ่านทางสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา สามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561
หากยื่นแบบฯ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต สามารถยื่นแบบฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2561

Q4 : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ต้องแนบเอกสารหรือไม่
A4 : ไม่ต้องแนบเอกสาร เว้นแต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 128) ซึ่งเสียภาษีจากกำไรสุทธิจริง จะต้องแนบงบแสดงสถานะทางการเงินและหนังสือของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

Q5 : สามารถยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต่างท้องที่ได้หรือไม่
A5 : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 สามารถยื่นแบบฯ ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของนิติบุคคลนั้น หรือยื่นแบบฯ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th

Q6 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หากมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่
A6 : ไม่ได้ ต้องชำระทั้งจำนวนในคราวเดียว

Q7 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หากมีภาษีที่ชำระไว้เกินสามารถขอคืนได้หรือไม่
A7 : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 มีภาษีที่ชำระไว้เกินหรือได้ชำระภาษีไว้ ให้ขอคืนหรือให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระปลายปี

Q8 : บริษัทมีกำไร (ขาดทุน) สุทธิทางบัญชี และทางภาษีอากรไม่เท่ากัน ในการประมาณการกำไรสุทธิ ตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต้องใช้กำไร (ขาดทุน) สุทธิจากยอดใด
A8 : การประมาณการกำไรสุทธิตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต้องใช้กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีอากร


Q9 : บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 โดยรอบระยะเวลาบัญชีแรกไม่ถึง 12 เดือน ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม

A9 : ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน

Q10 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต้องแนบหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายด้วยหรือไม่
A10 : ไม่ต้องแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

Q11 : แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ต้องใส่ชื่อผู้สอบบัญชีหรือไม่
A11 : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้คือ
1. ใส่ชื่อผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 โดยคำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
2. ไม่ต้องใส่ชื่อผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณียื่นแบแสดงรายการ บ ภ.ง.ด.51 โดยคำนวณและชำระภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ

Q12 : การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หากประมาณการกำไรสุทธิไว้ต่ำไป มีความผิดหรือไม่
A12 : หากการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

Q13 : บริษัทยื่นประมาณการกำไรสุทธิตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 บริษัทจะยื่นแบบฯ เพิ่มเติมต้องเสียเงินเพิ่มอย่างไร
A13 : ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ชำระขาด
หากบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ โดยไม่ได้รับ คำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน โดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ถ้าชำระภายใน 2 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.10 ของเงินภาษี ที่ต้องชำระ
(ข) ถ้าชำระภายหลัง 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.50 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

Q14 : บริษัทยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 โดยประมาณกำไรสุทธิไว้สูงไป บริษัทต้องรับผิดเงินเพิ่มหรือไม่
A14 : ไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่ม

Q15 : มูลนิธิหรือสมาคม ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม่
A15 : มูลนิธิหรือสมาคม ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เนื่องจากมูลนิธิ/สมาคมเสียภาษีเงินได้จากยอดรายรับ จึงไม่ต้องประมาณการกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได

Q16 : กิจการร่วมค้า ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หรือไม่
A16 : กิจการร่วมค้าถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่
ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ด้วย


Q17 : ขอทราบวิธีการคำนวณประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25
A17 : ให้นำกำไรสุทธิจริง ลบด้วยประมาณการกำไรสุทธิได้เท่าไร นำผลลัพธ์คูณด้วย 100 หารด้วยกำไรสุทธิจริง มีดังนี้
ตัวอย่าง บริษัทประมาณการกำไรสุทธิไว้ 70,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 5,000 บาท
แต่กำไรสุทธิที่บริษัทยื่นรายการตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 และชำระภาษีเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 100,000 บาท ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทขาดเกินกว่าร้อยละ 25 หรือไม่
วิธีการคำนวณ
กำไรสุทธิจริง 100,000 – ประมาณการกำไรสุทธิ 70,000 = ประมาณการขาด 30,000
กำไรสุทธิ 100 ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป = 30,000*100/100,000
= 30
ดังนั้น ถือว่าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25

Q18 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนด ต้องรับผิดอย่างไรบ้าง
A18 : กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดเวลาต้องรับผิด
1. ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด
2. กรณีมีภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่ม ให้เสียอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษี
ที่ต้องชำระ แต่ไม่เกินเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

Q19 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 กรณีใด ถือว่าเข้าเหตุอันสมควรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.152/2558ฯ
A19 : (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิ ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปี
ไว้น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว เนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี

Q20 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 โดยกรอกรายการจำนวนเงินผิดทุกรายการ เนื่องจากนำข้อมูลของบริษัทอื่นมากรอก และไม่มีภาษีต้องชำระ จะต้องปรับปรุงรายการอย่างไร
A20 : ให้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม โดยกรอกรายการต่าง ๆ ด้วยตัวเลขที่ถูกต้องและครบถ้วน
ทุกรายการ

 

Q21 : ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ผ่านอินเทอร์เน็ต หากมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม จะชำระผ่านธนาคาร จะชำระผ่านช่องทางใดได้บ้าง
A21 : หากได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ผ่านอินเทอร์เน็ต และมีภาษีต้องชำระเพิ่ม สามารถเลือกช่องทางธนาคาร สามารถเลือกช่องทางการชำระภาษี เช่น e-payment, Internet Banking และ เคาน์เตอร์ธนาคาร เป็นต้น

Q22 : หากยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ผ่านอินเทอร์เน็ต แล้ว แต่มิได้ชำระภาษีภายในวันที่ 10 กันยายน 2561 ต้องทำอย่างไร
A22 : การยื่นแบบฯ หากมีภาษีต้องชำระ แต่มิได้ชำระภายในกำหนดเวลาถือว่าแบบแสดงรายการไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องทำการยื่นแบบฯ ใหม่ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นสาขา พร้อมต้องชำระค่าปรับและเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20

Q23 : หากยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ผ่านอินเทอร์เน็ต คำนวณแล้วมีภาษีต้องชำระเพิ่มจำนวน 57,632.50 บาท เหตุใดในใบ pay-in slip จึงไม่มีเศษสตางค์
A23 : ในการชำระภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล หากคำนวณภาษีแล้วมีเศษสตางค์ เมื่อชำระภาษีจะได้รับยกเว้นเศษของบาท ตามมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) ดังนั้น การชำระจึงไม่ต้องชำระเศษสตางค์

Q24 : ทำไมกิจการร่วมค้า จึงไม่ได้รับสิทธิการยกเว้นกำไรสุทธิจำนวน 300,000 บาท
A24 : เนื่องจาก พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 603) ยกเว้นภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท (SMEs) และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30,000,000 บาท ซึ่งกิจการร่วมค้า ไม่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นกำไรสุทธิ

Q25 : หากยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ประมาณการไว้มีกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท แต่ผลการประกอบกิจการเมื่อสิ้นปี ปรากฏว่ากิจการขาดทุน 2 ล้านบาท บริษัทต้องเสียเงินเพิ่มหรือไม่
A25 : การประมาณการว่าจะมีกำไรสุทธิ แต่เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ปรากฏว่าขาดทุน จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2021