พระราชกฤษฎีกา
กำหนดบริษัทที่ให้ใช้ความในหมวด 7 ทวิ
แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บังคับ
พ.ศ. 2534
-------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดบริษัทที่ให้ใช้ความในหมวด 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บังคับ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 และมาตรา 65 ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกากำหนดบริษัทที่ให้ใช้ความในหมวด 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บังคับ พ.ศ. 2534"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้บริษัทดังต่อไปนี้เป็นบริษัทที่ให้ใช้ความในหมวด 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษี เงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 บังคับ
(1) บริษัทซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียม ในปี พ.ศ. 2522 และได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2533
(2) บริษัทซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียม ในปี พ.ศ. 2524 และได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ตาม (1) ในปี พ.ศ. 2532
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้บริษัทซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียม ในปี พ.ศ. 2522 และได้ ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2533 และบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียม ในปี พ.ศ. 2524 และได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในปี พ.ศ. 2532 กับบริษัทซึ่งได้รับ สัมปทานปิโตรเลียมในปี พ.ศ. 2522 ดังกล่าว เป็นบริษัทที่ให้ใช้ความในหมวด 7 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษี เงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 บังคับ เพื่อให้บริษัทดังกล่าวสามารถนำภาษีเงินได้ ที่ได้ชำระในประเทศไทยตามกฎหมายดังกล่าวไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ ในต่างประเทศได้ อันจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางภาษีอากรยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกานี้
[รก. 2534/127/30พ/22 กรกฎาคม 2534]