คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป. 117/2545
เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
--------------------------------
เพื่อให้การปฏิบัติราชการตามประมวลรัษฎากรบางกรณีสำหรับสำนักบริหาร ภาษีธุรกิจขนาดใหญ่เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38(7) แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.62/2539 เรื่อง มอบหมายให้เจ้าพนักงานสรรพากรสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/19 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 110/2545 เรื่อง มอบหมายให้เจ้าพนักงานสรรพากรสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียน ออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/19 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2545
(2) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 94/2543 เรื่อง มอบอำนาจการสั่งอนุมัติ ให้ถือเป็นรายจ่าย กรณีมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการสั่งอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง การขยายเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงิน และการสั่งอนุมัติการยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ กรณีมิได้ใช้แบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด สำหรับศูนย์บริหารภาษีธุรกิจ ขนาดใหญ่ ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2543
(3) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 107/2545 เรื่อง มอบอำนาจสั่งอนุมัติให้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วย เงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับศูนย์บริหาร ภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2545
(4) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 486/2542 เรื่อง มอบอำนาจหน้าที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดี สำหรับศูนย์บริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
ข้อ 2 มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ดังต่อไปนี้
(1) การอนุมัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลา บัญชีที่แก้ไขให้ถูกต้องหรือในรอบระยะเวลาบัญชีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องได้สำหรับกรณีบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ในการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ ตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) การอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
(3) การอนุมัติขยายเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงินตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียอากรได้เสียอากรโดยวิธีปิดแสตมป์บนตราสาร สำหรับตราสารที่กำหนดให้ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามประกาศอธิบดี กรมสรรพากรที่ออกโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต่อมาได้นำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินไว้อีก และได้ขอขยายเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงิน
(4) การอนุมัติให้ถือว่าผู้มีหน้าที่หักภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีถูกต้องตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุโลม ในกรณีผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ได้นำส่งภาษีโดยมิได้ใช้แบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดสำหรับการหักภาษี ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
(5) การอนุมัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
(6) การสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/19 แห่งประมวลรัษฎากร
(7) การอนุมัติขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
(8) การอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร
(9) การรับจำนอง การรับจำนำ การไถ่ถอนการจำนอง และการคืน ทรัพย์สินที่จำนำกรณีการใช้ทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ภาษีอากร และให้มีอำนาจ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปทำการดังกล่าวแทนได้ด้วย
(10) การสั่งคืนสัญญาค้ำประกันที่ใช้ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรค้างระหว่างขอทุเลาการเสียภาษีอากรหรือการผ่อนชำระภาษีอากรค้าง เมื่อปรากฏว่าผู้ค้างภาษีอากรได้ชำระภาษีอากรค้างครบถ้วนแล้ว หรือได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ปลดหนี้ภาษีอากรค้าง รวมถึงการแจ้งหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันไปยังผู้ค้ำประกันด้วย
"(11) การอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะย้อนหลังตามมาตรา 91/12 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
(12) การสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะออกจากทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/21(3) แห่งประมวลรัษฎากร"
(แก้ไขเพื่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพารที่ ท.ป.132/2546 ใช้บังคับ 10 กันยายน 2546 เป็นต้นไป)
"(13) การอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558
(14) การอนุมัติให้เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 587) พ.ศ. 2558"
(แก้ไขเพื่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพารที่ ท.ป.247/2558 ใช้บังคับ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป)
"(15) การอนุมัติให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตามมาตรา 10
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561
(16) การอนุมัติให้สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ตามมาตรา 10 (4) และมาตรา 11/6 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ
ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561
(17) การอนุมัติให้สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.313/2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)
“(18) การรับแจ้งเพื่อใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 76 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(19) การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 76 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(20) การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตราทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ตามมาตรา 76 เบญจ (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(21) การอนุมัติให้ใช้อัตราอื่นเฉพาะส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้คำนวณไว้ตามมาตรา 76 เบญจ (1) แห่งประมวลรัษฎากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.327/2563 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป)
“(22) การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้เป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.335/2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป)
”(23) การอนุมัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเฉพาะกรณีที่จ่ายเงินให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินรายเดียวกันหลายครั้งในปีภาษี ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
(24) การอนุมัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้ทั้งในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ กรณีไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ข้อ 5 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
(25) การอนุมัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.339/2564 ให้ใช้บังคับสำหรับคำขออนุมัติที่ยื่นต่อ กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป)
“(26) การอนุมัติสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 759) พ.ศ. 2565 และลงนามในหนังสือแจ้งผลการอนุมัติดังกล่าว
(27) การพิจารณาให้ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูลที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 759) พ.ศ. 2565 สิ้นสุดการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว และลงนามในหนังสือแจ้งผลการพิจารณานั้น”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.352/2566 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป)
ข้อ 3 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)
อธิบดีกรมสรรพากร