เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง    กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร

--------------------------------


                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
                ข้อ   1   ให้ยกเลิก
                                (1)  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2539
                                (2)  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2539
                                (3)  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2539
                ข้อ   2   ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ดังต่อไปนี้ มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร
                                (1)  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตาย กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ให้ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีเงินได้พึงประเมิน
                                      ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามวรรคหนึ่ง มิให้รวมถึงคน ต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาและอยู่ในประเทศไทยครั้งละไม่เกิน 14 วัน และรวมกันแล้วไม่เกินเก้าสิบวันในปีภาษีหนึ่ง ๆ
                                      กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้เยาว์ ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ หรือผู้จัดการกิจการอันก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน แล้วแต่กรณี มีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวตามวรรคหนึ่งแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                                      กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตาย กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวตามวรรคหนึ่งแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา
                                     “กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีและใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนนั้นในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป)
                                (2)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือวันที่เริ่มประกอบกิจการในประเทศไทยแล้วแต่กรณี
                                     “กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีและใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลนั้นในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรโดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป)
                                (3)  ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ปฏิบัติดังนี้
                                      (ก)  บุคคลธรรมดา คู่สมรสสามีและภริยา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีและใช้เลขประจำตัวตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่กำหนดไว้แล้ว ให้ใช้เลขประจำตัวนั้นในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร กรณีเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
                                     (ข)  ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือมีหน้าที่เสียภาษีอากรแต่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีอากรบางกรณี ให้ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดก่อนวันที่จ่ายเงินได้
                                      “กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นสมาคมการค้าหรือหอการค้าที่มีและใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลนั้นในกรณีเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป)
                                     (ค)  กรณีที่ผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือศาสนสถาน ให้ยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้อง ขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร แต่กรมสรรพากรจะเป็นผู้กำหนดเลขประจำตัวและแจ้งให้ส่วนราชการ สถานศึกษา และ ศาสนสถานดังกล่าวทราบและถือปฏิบัติต่อไป
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 7) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
                ข้อ   3   การยื่นคำร้องตามข้อ 2 ให้ปฏิบัติดังนี้
                                (1)  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ยื่นคำร้องต่อสรรพากรพื้นที่หรือสรรพากรพื้นที่สาขา ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่ ผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
                                      ในกรณีที่อยู่และสำนักงานประจำของผู้ยื่นคำร้องมิได้อยู่ในท้องที่จังหวัดเดียวกัน ผู้ยื่นคำร้องจะยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังกล่าวในวรรคหนึ่งในเขตท้องที่ที่สำนักงานประจำตั้งอยู่ก็ได้
                                (2)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยื่นคำร้องต่อสรรพากรพื้นที่หรือสรรพากรพื้นที่สาขา ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ เว้นแต่กรณีผู้เสียภาษีอากรที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ให้ยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
                                (3) ผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ยื่นคำร้องต่อสรรพากรพื้นที่หรือสรรพากรพื้นที่สาขา ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่ผู้จ่ายเงินได้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือมีสำนักงานตั้งอยู่
                ข้อ   4   ให้หน่วยงานที่รับคำร้องดังกล่าวข้างต้น เป็นหน่วยออกเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
                ข้อ   5   ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายรายหนึ่งมีเลขประจำตัวหนึ่งหมายเลข หากปรากฏว่ารายใดมีเลขประจำตัวเกินหนึ่งหมายเลขให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังกล่าวในข้อ 3 แล้วแต่กรณี ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีเลขดังกล่าวเกินกว่าหนึ่งหมายเลข เพื่อกำหนดให้มีเพียงหมายเลขเดียวเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรอาจกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีเลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรเกินกว่าหนึ่งหมายเลขก็ได้
                ข้อ   6   ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแจ้งเลขประจำตัวและแสดงบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ให้ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแจ้งเลขประจำตัวของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในแบบแสดงรายการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายทุกกรณี
                ข้อ   7   กรณีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้ หรือสูญหาย หรือมีการแก้ไขชื่อ นามสกุล ชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือเปลี่ยนที่อยู่ หรือย้ายที่ตั้งสำนักงานหรือสำนักงานใหญ่ ให้ผู้นั้นแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ดังกล่าวในข้อ 3 แล้วแต่กรณี ภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่กรณีดังกล่าวเกิดขึ้น พร้อมทั้งแนบบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดิม (ถ้ามี) คืนไปด้วย เพื่อขอให้ออกบัตรนั้นใหม่
                                กรณีการเปลี่ยนที่อยู่ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ผู้นั้นแจ้งการเปลี่ยนที่อยู่ต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่ผู้ยื่นคำร้องได้ย้ายไปอยู่ใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมทั้งแนบบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดิม (ถ้ามี) คืนไปด้วยเพื่อขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรใหม่
                                กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ขอคืนบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ ดังกล่าวในข้อ 3 เพื่อส่งคืนบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
                ข้อ   8   ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2 แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ดังกล่าวในข้อ 3 แล้วแต่กรณี ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีกรณีดังต่อไปนี้เกิดขึ้น พร้อมทั้งแนบบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรคืนไปด้วย
                                (1)  กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นคู่สมรสสามีและภริยา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง เลิกหรือโอนกิจการทั้งหมด หรือพ้นสภาพการเป็นกองมรดกซึ่งยังมิได้แบ่งแล้ว
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
                                (2)  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เลิกกันหรือควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น
                                กรณีควบเข้ากันตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่ หรือผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันได้ควบเข้ากันนั้น ยื่นคำร้องขอมีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรตามข้อ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันควบเข้ากัน พร้อมกับการแจ้งการควบเข้ากันนั้น
                ข้อ   9   หลักเกณฑ์ วิธีการ ตามประกาศนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้
                ข้อ   10   ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022