คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.130/2546
เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
--------------------------------
เพื่อให้การปฏิบัติราชการตามประมวลรัษฎากรบางกรณีสำหรับสำนักงานสรรพากรภาคเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.118/2545 เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545
ข้อ 2 มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น ดังต่อไปนี้
(1) การใช้อำนาจตามมาตรา 12 และมาตรา 12 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(2) การอนุมัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถือเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่แก้ไขให้ถูกต้องหรือในรอบระยะเวลาบัญชีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องได้ สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
"(3) การอนุมัติให้ถือว่าผู้มีหน้าที่หักภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีถูกต้องตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุโลม ในกรณีผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ได้นำส่งภาษีโดยมิได้ใช้แบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดสำหรับการหักภาษี ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร "
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.216/2557 ใช้บังคับ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป)
(4) การอนุมัติขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
(5) การอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร
(6) การรับจำนอง การรับจำนำ การไถ่ถอนการจำนอง และการคืน ทรัพย์สินที่จำนำกรณีการใช้ทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ภาษีอากร และให้มีอำนาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปทำการดังกล่าวแทนได้ด้วย
(7) การสั่งคืนสัญญาค้ำประกันที่ใช้ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรค้างระหว่างขอทุเลาการเสียภาษีอากรหรือการผ่อนชำระภาษีอากรค้าง เมื่อปรากฏว่าผู้ค้างภาษีอากรได้ชำระภาษีอากรค้างครบถ้วนแล้ว หรือได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ปลดหนี้ภาษีอากรค้าง รวมถึงการแจ้งหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันไปยังผู้ค้ำประกันด้วย
"(8) การอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการได้ประกอบกิจการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังต่อไปนี้ ก่อนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
(ก) ผู้ประกอบการประกอบกิจการโดยสำคัญผิดว่าได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
(ข) ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ ในการขายสินค้า หรือการให้บริการทุกครั้ง และจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
(ค) ผู้ประกอบการจัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานภาษีขาย
(ง) ผู้ประกอบการได้ยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน กำหนดเวลาตามกฎหมาย ซึ่งคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยวิธีภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้ประกอบการได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายโดยตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน
(จ) ในขณะที่มีการยื่นคำร้องขออนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการยังประกอบกิจการอยู่จนถึงในปัจจุบัน และ
(ฉ) ผู้ประกอบการขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายให้ถูกต้อง มิได้มีเจตนา ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้ โดยพิจารณาในปีนั้นว่ามีภาษีขายที่ต้องชำระมากกว่าภาษีซื้อ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.233/2557 ใช้บังคับ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป)
(9) การพิจารณาคำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง กรณีสรรพากรพื้นที่ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากอง และกรณีข้าราชการระดับ 8 ระดับ 7 และระดับ 6 ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ได้ใช้อำนาจตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 และกรณีผู้ที่สรรพากรพื้นที่มอบหมายให้ใช้อำนาจตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.164/2550 ใช้บังคับ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป)
"(10) การอนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีของสามีและภริยา ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีสามีหรือภริยาได้ยื่นคำขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการนั้น โดยยังไม่มีการออกหมายเรียกหรือออกหนังสือแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงานประเมิน"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 246/2558 ใช้บังคับ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป)
"(11) การรับแจ้งเพื่อใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 76 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(12) การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 76 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(13) การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 76 เบญจ (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(14) การอนุมัติให้ใช้อัตราอื่นเฉพาะส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้คำนวณไว้ตามมาตรา 76 เบญจ (1) แห่งประมวลรัษฎากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.326/2563 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป)
“(15) การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้เป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.334/2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป)
“(16) การอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา40 (1) แห่งประมวล รัษฎากร ที่เป็นเงินตกเบิกย้อนหลังจากหน่วยงานของ รัฐซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(17) การอนุมัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีณ ที่จ่าย เฉพาะกรณีที่จ่ายเงินให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินรายเดียวกันหลายครั้งในปีภาษีตามมาตรา 50 ทวิวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
(18) การอนุมัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ ทั้งในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ กรณีไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ข้อ 5 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง ก าหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
(19) การอนุมัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามข้อ2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง ก ำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
(20) การอนุมัติให้ขยายเวลาประกอบกิจการในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 85/16 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพำกร ที่ ท.ป.338/2564 ให้ใช้บังคับสำหรับคำขออนุมัติ ที่ยื่นต่อกรมสรรพำกร ตั้งแต่วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป)
"ข้อ 3 มอบอำนาจให้นักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญที่ปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานสรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (16) (17) (18) (19) และ (20) ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.338/2564 ให้ใช้บังคับสำหรับคำขออนุมัติที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป)
ข้อ 4 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2546
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)
อธิบดีกรมสรรพากร