เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 121/2545
เรื่องการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์



            เนื่องด้วยกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีสาระสำคัญว่า ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาข้อความใดในสภาพที่เป็นมาแต่เดิมอย่างเอกสารต้นฉบับ ถ้าได้นำเสนอหรือเก็บรักษาในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าได้มีการนำเสนอหรือเก็บรักษาเป็นเอกสารต้นฉบับตามกฎหมายแล้ว หรือในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เก็บรักษาเอกสารหรือข้อความใด ถ้าได้เก็บรักษาในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าได้มีการเก็บรักษาเอกสารหรือข้อความตามที่กฎหมายต้องการแล้ว
            บทบัญญัติดังกล่าวมีผลกระทบต่อการจัดทำและการจัดเก็บบัญชี รายงาน และเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดเก็บไว้ตามประมวลรัษฎากร แต่โดยที่การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานดังกล่าว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจจัดทำเอกสารหลักฐานที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบกระดาษและจัดเก็บสำเนาไว้ในรูปแบบกระดาษ หรืออาจจัดทำเอกสารหลักฐานที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบกระดาษและจัดเก็บสำเนาไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจจัดทำเอกสารหลักฐานที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และจัดเก็บสำเนาไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ว่าจะดำเนินการในลักษณะใด การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรต้องมีความถูกต้องและต้องกระทำตามวิธีการแบบปลอดภัยที่เชื่อถือได้
            ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรมีความสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
            ข้อ 1  ในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
                  (1) คำว่า “เอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร” หมายความว่า เอกสารหลักฐานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำหรือมีหน้าที่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมิน เช่น บัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย บัญชีพิเศษที่ต้องจัดทำตามประมวลรัษฎากร รายงานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รายงานแสดงรายรับก่อนหักรายจ่ายที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ ใบแทนใบลดหนี้ ใบรับ ใบส่งของ เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ และเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือประกอบการลงรายงาน
                  (2) คำว่า “ข้อความ” หมายความว่า เรื่องราวหรือข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข เสียง ภาพ หรือรูปแบบอื่นใดที่สื่อความหมายได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่านวิธีการใด ๆ
                  (3) คำว่า “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร
                  (4) คำว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
                  (5) คำว่า “เจ้าของลายมือชื่อ” หมายความว่า ผู้ซึ่งถือข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นในนามตนเองหรือแทนบุคคลอื่น
            ข้อ 2  กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/5 มาตรา 86/6 มาตรา 86/7 มาตรา 86/9 มาตรา 86/10 มาตรา 86/12 มาตรา 105 ทวิ และมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ไม่ว่าจะจัดทำด้วยวิธีการใด ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องส่งมอบเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวที่เป็นต้นฉบับให้แก่ผู้รับในรูปแบบกระดาษ
            ข้อ 3  กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/5 มาตรา 86/6 มาตรา 86/7 มาตรา86/9 มาตรา 86/10 มาตรา 86/12 มาตรา 86/14 มาตรา 105 ทวิ และมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบกระดาษ หรือได้รับเอกสารหลักฐานที่สามารถพิสูจน์รายจ่ายได้ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบกระดาษ หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 5 และข้อ 6
            กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรตามวรรคหนึ่งที่ได้จัดเก็บไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้วปรากฏว่า มีความจำเป็นต้องตรวจสอบประกอบกับเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรในรูปแบบกระดาษ ให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวส่งมอบเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรในรูปแบบกระดาษ
            ข้อ 4  กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ได้จัดทำเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบกระดาษและจัดเก็บสำเนาไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือได้จัดทำเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และจัดเก็บสำเนาไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 5 และข้อ 6
            ข้อ 5  การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 3 และข้อ 4 จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                  (1) ข้อความที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายของข้อความไม่เปลี่ยนแปลง
                  (2) ได้เก็บรักษาข้อความที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในขณะที่สร้าง ส่ง หรือได้รับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น หรืออยู่ในรูปแบบที่สามารถแสดงข้อความที่สร้าง ส่ง หรือได้รับให้ปรากฏอย่างถูกต้องได้
                  (3) ได้เก็บรักษาข้อความส่วนที่ระบุถึงแหล่งกำเนิด ต้นทางที่สร้าง ส่ง จำนวนหน่วยของข้อมูลที่ส่ง วัน เดือน ปีและเวลาที่ส่ง รหัสหน่วยงานที่ส่ง และปลายทางของข้อมูล จำนวนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลายทางได้รับ วัน เดือน ปีและเวลาที่ได้รับข้อมูล
                  (4) สามารถเรียกดูหรือพิมพ์ข้อมูลของเอกสารหลักฐานที่ได้เก็บรักษาข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ในทันทีที่เจ้าพนักงานประเมินสั่งหรือผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง ทั้งนี้ รายการหรือข้อความที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะต้องถูกต้องครบถ้วนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และเป็นรายการหรือข้อความเช่นเดียวกับที่ได้บันทึกไว้ ซึ่งมีรายการหรือข้อความและรูปแบบเช่นเดียวกันกับเอกสารที่จัดทำเป็นกระดาษ
                  (5) ต้องสามารถถ่ายโอนข้อมูล (Export File) ที่เก็บบันทึกไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลงในสื่อบันทึกข้อมูล เป็นรายเดือนหรือรอบระยะเวลาบัญชีหรือตามระยะเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ทราบ โดยมีรูปแบบ (Format) ของรายการต่าง ๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
                  (6) กรณีเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรเป็นเอกสารที่กฎหมายกำหนดให้ลงลายมือชื่อ และมีการจัดทำเอกสารหลักฐานดังกล่าวในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การลงลายมือชื่อจะต้องจัดทำลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ และสามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อได้ ซึ่งเจ้าของลายมือชื่อจะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรให้แน่ใจในความถูกต้องและความสมบูรณ์ของการแสดงสาระสำคัญทั้งหมดที่ได้กระทำโดยเจ้าของลายมือชื่อ
            กรณีเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรตามวรรคหนึ่ง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว
                  (ก) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อและสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองหรือยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
                  (ข) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี
            ข้อ 6  การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะต้องกระทำตามวิธีการแบบปลอดภัยที่เชื่อถือได้ทั้งในส่วนของระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware) และระบบซอฟต์แวร์ (Software) ดังต่อไปนี้
                  (1) มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้ โดยจะต้อง
                        (ก) สามารถแสดงภาพการทำงานรวมของระบบงานทั้งหมด (System Flowchart) ได้
                        (ข) แสดงระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้ระบบ โดยระบุจำนวนและระดับเจ้าหน้าที่ที่สามารถบันทึก อ่าน หรือเข้าไปใช้ระบบงานในแต่ละระดับได้
                        (ค) เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูลแล้วจะแก้ไขรายการนั้นๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ การแก้ไขรายการไม่ให้ใช้วิธีลบทิ้ง หรือล้างรายการออก ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงเพิ่มเข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นรายการก่อนปรับปรุงและหลังปรับปรุง และต้องมีรายงานการแก้ไขรายการเพื่อการตรวจสอบได้
                        (ง) มีการควบคุมโดยใช้รหัสผ่านสำหรับผู้มีสิทธิเข้าไปใช้ระบบงานทุกระดับและมีระบบงานที่บันทึกการเปลี่ยนรหัสผ่านทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
                        (จ) มีรายงานบันทึกการใช้ระบบงาน โดยระบุให้ทราบถึงรหัสประจำตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้ระบบ งานที่ทำ วัน เดือน ปี และเวลาที่เข้าใช้ระบบงาน (Access) ในกรณีที่มีการแก้ไขรายการจะต้องระบุให้ทราบถึงรหัสประจำตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้ระบบ จำนวน และรายละเอียดของรายการที่แก้ไขปรับปรุง
                        (ฉ) มีระบบการตรวจสอบผู้เข้าใช้หรือผู้เข้าไปแก้ไขข้อมูลในระบบ และมีกระบวนการในการตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบที่สามารถแสดงว่าข้อมูลดังกล่าวได้บันทึกไว้ครบถ้วนทุกรายการแล้ว และไม่มีการแก้ไขรายการของเอกสารที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
                  (2) กรณีแฟ้มข้อมูลมีการควบคุมโดยการเข้ารหัส (Encryption) เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูล ถ้ามีการถอดรหัส (Decryption) ต้องบันทึกหลักฐานไว้ทุกครั้งเพื่อการตรวจสอบ และสามารถจัดพิมพ์เป็นรายงานเพื่อการตรวจสอบได้
            ข้อ 7  เพื่อประโยชน์ในการแสดงข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่เจ้าพนักงานประเมินเกี่ยวกับการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้เจ้าพนักงานประเมินแนะนำให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้จัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ตามข้อ 3 และข้อ 4 แจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบ ภ.อ.11 (แบบแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สำนักงานหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ เว้นแต่กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ให้ยื่นผ่านผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
            กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ เว้นแต่กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ให้ยื่นผ่านผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
            ข้อ 8  ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 7 ยื่นแบบ ภ.อ.11 (แบบแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) โดยแสดงรายการให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมกับแนบเอกสารดังต่อไปนี้
                  (1) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือของผู้ประกอบการจดทะเบียน
                  (2) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน มูลนิธิที่มิใช่นิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการในนามคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
                  (3) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ
                  (4) กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร และตัวแทนนั้นได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรดังกล่าว ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทน
                  (5) การยื่นแบบ ภ.อ.11 (แบบแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม (1) ถึง (4) กรณีมีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นแบบ ภ.อ.11 (แบบแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
                  (6) ภาพการทำงานรวมของระบบงานทั้งหมด (System Flowchart) และคำอธิบายระบบงานรวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยและคำอธิบายวิธีการเรียกพิมพ์ด้วย
                  (7) ตัวอย่างของเอกสารหลักฐานที่จัดทำและจัดเก็บที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใบกำกับภาษี ใบรับ และใบส่งของ
            ข้อ 9  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

 

 

สั่ง ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
อธิบดีกรมสรรพากร


หน้าจอหลักบริการสารสรรพากร : : หน้าจอหลัก ม.ค. 46 : : หน้าก่อน : : หน้าต่อไป

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2003