ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ และการนำเข้าหรือการขายทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
--------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 ทวิ (6) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 3 และมาตรา 3 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2543 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ และการนำเข้าหรือการขายทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียมเฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใด ๆ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ. ศ. 2542
ข้อ 2 ให้การนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมนโอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ และการนำเข้าหรือการขายทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อ 3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหรือการขายสินค้าตามข้อ 2 ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติดังนี้
(1) เป็นสมาชิกสมาคมอัญมณีสมาคมใดสมาคมหนึ่ง หรือเป็นสมาชิกหอการค้าไทย หรือเป็นสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(2) มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือ
(3) ได้แจ้งการประกอบกิจการต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งการประกอบกิจการนำเข้าหรือขายอัญมณี ทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ในกรณีที่มีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชรพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุกและอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ และการนำเข้าหรือการขายทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป)
ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งนำเข้าสินค้าตามข้อ 2 ต้องแสดงเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการนำเข้าต่อเจ้าพนักงาน ในเวลายื่นใบขนสินค้าเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยต้องระบุรายการดังต่อไปนี้ในใบขนสินค้าขาเข้า
(1) ชื่อ ที่อยู่ผู้นำเข้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) ประเภท ชนิด ปริมาณ น้ำหนักต่อหน่วย และมูลค่าต่อหน่วยของสินค้าที่นำเข้า
ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งนำเข้าสินค้าตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบสำหรับสินค้าที่นำเข้า ทั้งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมกันในรายงานสินค้าและวัตถุดิบซึ่งต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยต้องระบุ วันที่นำเข้า เลขที่ใบขน และรายการตาม (2) ในรายงานดังกล่าว และต้องจัดทำสมุดรายวันซื้อตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี โดยต้องระบุ วันที่นำเข้า เลขที่ใบขน และรายการตาม (2) ในสมุดรายวันซื้อดังกล่าวด้วย
ข้อ 5 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย สินค้าตามข้อ 2 จะต้องขายสินค้าที่นำเข้าตามข้อ 4 หรือขายสินค้าที่ซื้อจากผู้ประกอบการ จดทะเบียนตามข้อ 3 ให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 3 โดยต้องจัดทำใบส่งของและระบุ รายการดังต่อไปนี้ในใบส่งของ
(1) ชื่อ ที่อยู่ผู้ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ซื้อ
(2) ประเภท ชนิด ปริมาณ น้ำหนักต่อหน่วย และมูลค่าต่อหน่วยของสินค้าตามข้อ 2 ที่ขาย
ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งขายสินค้าตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบสำหรับสินค้าที่ขาย ทั้งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมกันในรายงานสินค้าและวัตถุดิบซึ่งต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยต้องระบุ วัน เดือน ปี ที่ออกใบส่งของ เลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) และเลขที่ของใบส่งของในรายงานดังกล่าว และต้องจัดทำสมุดรายวันขายตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี โดยต้องระบุรายการตาม (1) และ (2) ในสมุดรายวันขายดังกล่าวด้วย
ข้อ 6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 3 ซึ่งซื้อสินค้าตามข้อ 2 ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 3 ซึ่งนำเข้าสินค้าตามข้อ 2 โดยตรง หรือซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 3 ซึ่งไม่ใช่ผู้นำเข้าสินค้าตามข้อ 2 โดยตรง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 3 ซึ่งเป็นผู้ซื้อจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบสำหรับสินค้าที่ซื้อ ทั้งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมกันในรายงานสินค้าและวัตถุดิบซึ่งต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยต้องระบุ วัน เดือน ปี ที่ออกใบส่งของ เลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) และเลขที่ของใบส่งของในรายงานดังกล่าว และต้องจัดทำสมุดรายวันซื้อตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี โดยต้องระบุรายการดังต่อไปนี้ในสมุดรายวันซื้อ
(1) ชื่อ ที่อยู่ผู้ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ขาย
(2) ประเภท ชนิด ปริมาณ น้ำหนักต่อหน่วย และมูลค่าต่อหน่วยของสินค้าตามข้อ 2 ที่ซื้อ
ข้อ 7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหรือการขายสินค้าตามข้อ 2 ต้องจัดเก็บใบส่งของและใบขนสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าว ได้รับจากการซื้อหรือการนำเข้าอัญมณีซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อประกอบการลงรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เป็นรายเดือนภาษีโดยแยกต่างหากจากเอกสารหลักฐานอื่น ณ สถานประกอบการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ข้อ 8 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหรือการขายสินค้าตามข้อ 2 ต้องคำนวณราคาสินค้าคงเหลือ ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และเมื่อใช้วิธีการใดแล้วให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้
ข้อ 9 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งแจ้งการประกอบกิจการต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ 3 ได้มีการนำเข้าหรือการขายสินค้ารายการใดตามข้อ 2 แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าหรือการขายสินค้ารายการนั้น
ข้อ 10 ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันออกประกาศนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับการอนุมัติให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าหรือการขายสินค้าตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ ของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ. ศ. 2542 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องแจ้งการประกอบกิจการต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ 3
ประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)
อธิบดีกรมสรรพากร
แบบแจ้งการประกอบกิจการนำเข้าหรือขายอัญมณี ทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม ( ภ.พ.01.5 ) >>