เลขที่หนังสือ | : กค 0702/11499 | วันที่ | : 24 ธันวาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการใช้บัตรเติมน้ำมันรถราชการ (Fleet Card) | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1.กระทรวงฯ ได้มีหนังสือด่วนมาก ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2550 อนุมัติให้ส่วนราชการจัดทำบัตรเติมน้ำมันรถราชการ และเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจากการใช้บัตรดังกล่าว โดยกรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้บัตรเติมน้ำมันรถราชการ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับส่วนราชการในการใช้บัตรเติมน้ำมันรถราชการแทนเงินสด คูปอง หรือใบสั่งจ่ายน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551เป็นต้นไป
2.ในหลักเกณฑ์การใช้บัตรเติมน้ำมันรถราชการกำหนดว่า (1)"สถาบันผู้ออกบัตรเติมน้ำมันรถราชการ" หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต บริษัทที่ประกอบธุรกิจน้ำมันค้าปลีก (สถาบันผู้ออกบัตรฯ ) (2)"บัตรเติมน้ำมันรถราชการ"หมายถึง บัตรเครดิตของส่วนราชการที่ออกโดยสถาบันผู้ออกบัตรเติมน้ำมันรถราชการเพื่อใช้สำหรับเติมน้ำมันรถราชการ (บัตรเติมน้ำมันฯ) (3)"สถานีบริการน้ำมัน" หมายถึง สถานีที่จำหน่ายน้ำมันที่บริหารงานโดยบริษัทผู้จำหน่ายน้ำมัน หรือบริหารโดยผู้ค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการและรับชำระค่าน้ำมันด้วยบัตรเติมน้ำมันรถราชการ 3.เมื่อส่วนราชการใช้บัตรเติมน้ำมันแทนการจ่ายเงินสดในการเติมน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติกับสถานีบริการน้ำมันที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา โดยสถานีบริการน้ำมันได้ออกใบเสร็จรับเงินระบุชื่อส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ เป็นผู้จ่ายเงิน กรมบัญชีกลาง จึงขอทราบเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้   (1)ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ไปเติมน้ำมันหรือก๊าซกับสถานีบริการน้ำมันทุกครั้งทันทีที่ชำระเงินก็ต้องดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ จึงมีความประสงค์จะแต่งตั้งสถาบันผู้ออกบัตรฯ ทำหน้าที่แทนส่วนราชการในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ได้หรือไม่   (2)กรมบัญชีกลางในฐานะผู้กำกับดูแลหลักเกณฑ์การใช้บัตรเติมน้ำมันรถราชการ สามารถดำเนินการในฐานะตัวการตัวแทนของส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการชำระเงิน หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ได้หรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1.กรณีส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ที่ออกโดยสถาบันผู้ออกบัตรฯ ไปใช้ที่สถานีบริการน้ำมัน แทนการจ่ายเงินสดเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสถานีบริการน้ำมันออกใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อ ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ เป็นผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งเรียกเก็บเงินจากสถาบันผู้ออกบัตรฯ แม้ว่ายังไม่ถึงกำหนดวันที่ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ต้องชำระเงินให้สถาบันผู้ออกบัตรฯ ก็ตาม กรณีถือว่า ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาล เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้กับสถานีบริการน้ำมันซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเติมน้ำมันฯ จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 สำหรับการจ่ายเงินได้ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดๆ ครั้งหนึ่งๆ ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525สำหรับกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้กับสถานีบริการน้ำมันที่ประกอบกิจการในนามบุคคลธรรมดาซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 10,000 บาท ก็ดี ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 50 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2.หากส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ในการชำระค่าน้ำมันให้กับสถานีบริการน้ำมันประสงค์จะแต่งตั้งให้สถาบันผู้ออกบัตรฯ เป็นตัวแทน เพื่อดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ก็สามารถกระทำได้ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ สถาบันผู้ออกบัตรฯ จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ซึ่งถือว่าเป็นผู้จ่ายเงินและจะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในนามของส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ผู้จ่ายเงิน และกรณีสถาบันผู้ออกบัตรฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ สถาบันผู้ออกบัตรฯ จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน และสถาบันผู้ออกบัตรฯ จะต้องส่งมอบสำเนาแบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และหลักฐานต้นฉบับใบเสร็จรับเงินการรับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของกรมสรรพากร และรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ด้วย อย่างไรก็ดี หากสถาบันผู้ออกบัตรฯ จะต้องจ่ายค่าน้ำมันให้แก่สถานีบริการน้ำมันเป็นจำนวนมาก จึงให้ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ และสถาบันผู้ออกบัตรฯ ดำเนินการ ดังนี้กรณีสถาบันผู้ออกบัตรฯ หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าน้ำมันดังกล่าวแทนส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ แล้วผ่อนผันให้ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าน้ำมันให้กับสถานีบริการน้ำมันในทันทีทุกครั้งที่จ่ายเงิน โดยให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 ครั้งต่อเดือน ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้สถาบันผู้ออกบัตรฯ ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่สถาบันผู้ออกบัตรฯ จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้องขอ ทั้งนี้สถาบันผู้ออกบัตรฯ ต้องมีรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม สถาบันผู้ออกบัตรฯ ต้องยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และนำส่งเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ (ก)คำว่า "รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประจำเดือน....พ.ศ. ...." ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด (ข)ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ค)ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของสถาบันผู้ออกบัตรฯ โดยมีข้อความว่า"ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้" (ง)ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน (จ)ประเภทเงินได้ จำนวนเงินที่จ่าย จำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่หักไว้แต่ละรายการ (ฉ)ลายมือชื่อผู้ได้รับมอบอำนาจหรือผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน 3.หากสถาบันผู้ออกบัตรฯ มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ให้สถาบันผู้ออกบัตรฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยมีข้อความว่า "สถาบันผู้ออกบัตรฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทน ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ แล้ว" 4.กรณีตาม 2. กรมบัญชีกลาง ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักเกณฑ์การใช้บัตรเติมน้ำมันฯ มิใช่ส่วนราชการที่ใช้บัตรเติมน้ำมันฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่สามารถดำเนินการในฐานะตัวการตัวแทนของส่วนราชการต่างๆ ในการดำเนินการชำระเงิน การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปได้ | เลขตู้ | : 78/39957 |