เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่  131)

เรื่อง    กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

-------------------------------------

 

                       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2521 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังต่อไปนี้

 

                       ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบัที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2544 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                               “ข้อ 2 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สองฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้”

 

                        ข้อ 2  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งของข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ก่อนที่จะมีการยกเลิกโดยประกาศฉบับนี้ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไป สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินทุกประเภท เว้นแต่การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ได้รับเงินได้ดังกล่าวไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรณีที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นบุคคลธรรมดาที่มีและใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ต้องเพิ่มช่องเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวด้วย โดยช่องเลขประจำตัวประชาชน ดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

 

ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2547

 

ศุภรัตน์  ควัฒนกุล

(นายศุภรัตน์  ควัฒนกุล)

อธิบดีกรมสรรพากร

 

หนังสือรับรองการหักภาษี  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

คำแนะนำให้การออกหนังสือรับรองการหักภาษี  คำแนะนำให้การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022