ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ภ.พ.01) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th โดยให้ถือเป็นการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้อีกวิธีหนึ่ง
“ให้ผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่งเฉพาะกรณีที่เป็นผู้ประกอบการตามข้อ ๕ (๑) (ก) ยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ภ.พ.01) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ได้วิธีเดียว”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป)
ข้อ 2 ผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการได้ในเมื่อ
(1) ผู้ประกอบการดังกล่าวมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
(2) มีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการ อันเป็นเหตุให้ต้องมีการ ซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร
ให้ผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดหกเดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่จะมีสัญญาหรือหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานหรือติดตั้ง เครื่องจักร หรือมีการกระทำในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานหรือติดตั้งเครื่องจักร
ข้อ 3 ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 2. ให้ยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เมื่อเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ
ข้อ 4 ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประเภทที่กำหนดในมาตรา 81/3 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงรายการให้ถูกต้องครบถ้วน และต้องมีหลักฐานเอกสารตามรายการ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา
(ก) สำหรับผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยใช้ห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดเป็นสถานประกอบการเพียงแห่งเดียวและไม่มีสถานประกอบการแห่งอื่น ต้องมี ใบทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนพาณิชย์ประกอบพาณิชยกิจการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
(ข) สำหรับผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
(2) กรณีผู้ประกอบการเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล ต้องมีหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกรณีผู้ร่วมจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็นคนต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัว คนต่างด้าว
(3) กรณีผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ต้องมีเอกสาร ดังนี้
(ก) กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการ ในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร และตัวแทนได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรดังกล่าว ต้องมีหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นชอบ
(ข) กรณีกิจการร่วมค้า ต้องมีเอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า
(ค) กรณีนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และสัญญาหรือโครงการที่แสดงถึงคู่สัญญา มูลค่าของสัญญา ระยะเวลาของสัญญาหรือโครงการที่เริ่มต้นและสิ้นสุด
(ง) กรณีองค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ต้องมีหลักฐานที่แสดงฐานะนิติบุคคล
(4) กรณีผู้ประกอบการตาม (1) ถึง (3) ใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่น เป็นสถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ต้องมีเอกสาร และดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) กรณีใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรือใช้ สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้ติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการดังกล่าว
กรณีสถานที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการตามวรรคหนึ่ง ตั้งอยู่ในอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ต้องมีหนังสือรับรองของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประกอบการค้าของอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เว้นแต่กรณีผู้ประกอบการ ตาม (1) (ก) ไม่ต้องมีหนังสือรับรองของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว
(ข) กรณีเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีสัญญาเช่า โดยสัญญาเช่าดังกล่าวต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่มีค่าตอบแทน ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
(ค) กรณีผู้ประกอบการตาม (1) (ก) ใช้ห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดเป็นสถานประกอบการ ต้องมีทะเบียนบ้านของที่ตั้งสถานประกอบการ และแผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขปพร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ และกรณีที่ใช้ที่อยู่อาศัยของตน เป็นสถานประกอบการ ต้องมีเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยนั้นด้วย
การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมและพร้อมที่จะแสดงเอกสารตัวจริงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรด้วย
การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการตาม (1) (ก) ผู้ประกอบการ ต้องอัปโหลด (Upload) เอกสารตาม (4) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ประกอบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป)
“ข้อ 5/1 ให้ผู้ประกอบการตามข้อ ๕ (๑) (ก) ต้องแสดงความยินยอมให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของผู้ประกอบการ เปิดเผยข้อมูล ต่อกรมสรรพากรเพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการมีการประกอบกิจการที่แท้จริงเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอนุมัติการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใด ที่ผู้ประกอบการตามข้อ ๕ (๑) (ก) ใช้ในการขายสินค้าหรือให้บริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป)
ข้อ 6 ให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตว่าผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แสดงรายการ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าจะได้แสดงรายการในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วนแล้ว ถ้าเป็นกรณีเข้าลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ให้เจ้าพนักงานสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
(1) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการแสดงรายการในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ
(2) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทน ผู้ประกอบการเป็นตัวแทนเชิดของเจ้าของกิจการที่แท้จริง
(3) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีสถานประกอบการจริงตามที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(4) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการใช้สำนักงานกฎหมายหรือสำนักงานบัญชีของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ เว้นแต่กรณีเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
(5) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการมิได้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมิใช่ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่แท้จริง
(6) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการดังกล่าวเคยเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนแต่ภายหลังถูกอธิบดีกรมสรรพากรสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยมูลเหตุมาจากกรณีตาม (1) ถึง (5)
(7) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการมิได้แสดงหรือนำส่งเอกสารหลักฐานตามข้อ 5 ต่อเจ้าพนักงานสรรพากรให้ครบถ้วนตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรร้องขอ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 214) ใช้บังคับ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
“(8) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการตามข้อ ๕ (๑) (ก) มิได้อัปโหลด (Upload) หรืออัปโหลด (Upload) เอกสารหลักฐานตามข้อ 5 ไม่ถูกต้องครบถ้วน และมิได้แสดงหรือนำส่งเอกสารหลักฐานที่ขาดต่อเจ้าพนักงานสรรพากรให้ครบถ้วนตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรร้องขอ”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป)
ข้อ 7 ให้เจ้าพนักงานสรรพากรดำเนินการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ให้แก่ผู้ประกอบการ กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายสถานประกอบการ
ข้อ 8 ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ กรณีที่เจ้าพนักงานสรรพากรไม่ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเพราะเข้าลักษณะตามข้อ 6 วรรคสอง ถือว่าผู้ประกอบการดังกล่าวมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01)
ความในวรรคหนึ่ง อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้
กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งอยู่แล้วในขณะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยระบุเฉพาะสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่มิได้ระบุสถานประกอบการแห่งอื่นๆ ไว้ในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ให้ถือว่าสถานประกอบการแห่งอื่นๆ นั้นเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในวันเดือนปีเดียวกันกับสำนักงานใหญ่
ผู้ประกอบการสามารถใช้คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่มีเลขที่อ้างอิง เพื่อใช้เป็นเสมือนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จนกว่าจะได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)
ข้อ 9 ผู้มีอำนาจออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้
(1) สรรพากรพื้นที่หรือผู้ที่สรรพากรพื้นที่มอบหมาย สำหรับผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(2) ผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่หรือผู้ที่ผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่มอบหมาย สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป)
ข้อ 10 ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
อธิบดีกรมสรรพากร