เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่  136)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

บิดามารดาของผู้มีเงินได้  รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร

-------------------------------------

 

   

                         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 36) พ.ศ. 2548 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

 

                        ข้อ 1 การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังนี้

                              (1) ให้หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สำหรับบิดามารดาที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไป  และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ แต่มิให้หักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป

                              (2) ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

                              (3) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาคนเดียวกัน  ให้ผู้มีเงินได้คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวที่มีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาดังกล่าวนั้นในแต่ละปีภาษี

                              (4) การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาดังกล่าวให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

                              (5) กรณีสามีหรือภริยาเป็นผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท 

                              (6) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่แล้ว ต่อมาได้สมรสกันให้ยังคงหักลดหย่อนได้ดังนี้

                                    (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนคนละ 30,000 บาท

                                    (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท

                                    (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนคนละ 30,000 บาท

                              (7) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย

 

                       ข้อ 2 การหักลดหย่อนตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

 

                 ข้อ 3 การหักลดหย่อนตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

 

                 ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป

     

ประกาศ ณ วันที่  14 มกราคม พ.ศ. 2548

 

                   ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์

                   (นายศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์)

                   อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 17-01-2012