เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13980
วันที่: 13 ตุลาคม 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ การขายฝากที่ดินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: บริษัทฯ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ได้ขายฝากที่ดินเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540 ซึ่งได้มาโดยการซื้อเมื่อปี พ.ศ. 2518 กรณีดังกล่าว
    1. การขายฝากที่ดินดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ถ้าเสียจะใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินหรือราคาขายฝาก
    2. เงินที่ได้จากการขายฝากจะต้องนำมาคำนวณรายได้ของบริษัทฯ ในปี พ.ศ.2540
หรือไม่ และจะถือราคาใด
    3. เมื่อถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ดินในปี พ.ศ. 2542 จะถือเป็นการซื้อที่ดินใหม่หรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริงการที่บริษัทฯ ได้ขายฝากที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540 เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามคำนิยามมาตรา 39 และมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปยังผู้ซื้อฝากเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น
    1. การขายฝากที่ดินที่บริษัทฯ ได้มาโดยการซื้อเมื่อปี พ.ศ.2518 เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากรรายรับที่จะนำมาคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร คือรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับหรือพึงได้รับ เนื่องจากการประกอบกิจการตามมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือราคาขายฝากที่ดินตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่พึงได้รับตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน หรือราคาที่พึงได้รับตามราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น
     2. เงินได้จากการขายฝากที่ดินของบริษัทฯ ถือเป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการบริษัทฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้นั้นจำนวนรายได้ให้ถือตามราคาขายฝากที่ดินตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น
    3. การใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากคืน เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 491 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ถือว่าเป็นการซื้อที่ดินใหม่แต่อย่างใด
เลขตู้: 60/25947

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020