เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/14025
วันที่: 14 ตุลาคม 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณรายได้และรายจ่ายจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ เกี่ยวกับยอดที่จะนำมาคำนวณกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สิน กรณีเป็นหนี้สินและทรัพย์สินระยะสั้น ซึ่งครบกำหนดในปี 2540 และปี 2541 ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    1. ยอดคงเหลือ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ทั้งด้านทรัพย์สินและหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 = (238,233,946.12) บาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 = 6,637,281.80 บาท ยอดขาดทุนสุทธิ = (229,596,664.32)บาท แล้วเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 31 ธันวาคม 2540 ต้องคำนวณปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้งหรือไม่
    2. ยอดคงเหลือ สิ้นสุด 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540 โดยใช้อัตราถัวเฉลี่ยในวันสุดท้ายของปี คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร เช่น ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540 =(250,000,000.00) บาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540 = 15,000,000.00 บาท ยอดขาดทุนสุทธิ = (235,000,000.00) บาท
    3. ยอดกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจริงที่เกิดในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 จนถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในปีนี้ เช่น ณ วันที่ 28สิงหาคม 2540 ชำระเงินกู้ 5,000,000 $ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน =(41,250,000.00) บาท ณ วันที่ 1 กันยายน 2540 ชำระเงินกู้ 8,000,000 $ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน = 67,600,000.00 บาท ณ วันที่ 8 กันยายน 2540 ได้รับชำระหนี้ 30,000 $ กำไรอัตราแลกเปลี่ยน = 321,000.00 บาท ยอดสะสมตั้งแต่ 2กรกฎาคม 2540 ถึง 31 ธันวาคม 2540 = (108,529,000.00) บาท
     จากตัวอย่างทั้ง 3 ตัวอย่างข้างต้น ตัวอย่างใดที่เป็นไปตามคำสั่งของกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ(5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีที่บริษัทฯ มียอดคงเหลือ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จึงไม่ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ก่อน แต่สำหรับยอดคงเหลือในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ตามตัวอย่าง ได้แก่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 บริษัทฯ จะต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยครั้งเดียว ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากมีผลกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สิน บริษัทฯ มีสิทธิคำนวณรายได้และรายจ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ดังกล่าวได้
  2. กรณีที่บริษัทฯ มีการชำระหนี้เงินกู้ และได้รับชำระหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตรา
ต่างประเทศในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไป ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่บริษัทฯ มีผลขาดทุนหรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ชำระหนี้ก็มีสิทธิ์นำผลขาดทุนหรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายหรือรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้ทั้งจำนวน บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิ์ดำเนินการตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ดังกล่าวแต่อย่างใด
   ดังนั้น จากตัวอย่างข้างต้น ผลกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ตามตัวอย่างที่ 2 เท่านั้นที่มีสิทธิ์ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
เลขตู้: 60/25950

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020