เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/19955
วันที่: 16 ธันวาคม 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ กรณีการขายสินค้าระบบ POST-TENSION พร้อมติดตั้ง
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ

: บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและขายสินค้าระบบ POST-TENSION ซึ่งใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีคุณสมบัติทำให้คอนกรีตเสริมเหล็กหรือโครงสร้างอื่น ๆ มีการรับน้ำหนักได้สูงขึ้นแต่ใช้คอนกรีตและเหล็กลดลง ในการขายสินค้าของบริษัทฯ นั้น ส่วนใหญ่บริษัทฯ จะขายพร้อมติดตั้ง (STRESSING) ตามแบบที่กำหนด (SHOP DRAWING) ซึ่งการติดตั้งจะทำ ณ สถานที่ก่อสร้างตามที่ผู้ซื้อกำหนด
  รายละเอียดโดยสรุปเกี่ยวกับส่วนประกอบของสินค้าระบบ POST-TENSION จะประกอบด้วยส่วนที่เป็น HARDWARES และ STRESSING WORK ดังนี้
  1. แผ่นเหล็กทรงกลม (ANCHOR DISC) และแผ่นเหล็กสมอ (ANCHOR PLATE) สำหรับยึดฟั่นเกลียวลวด (STRAND)
  2. ท่อ DUCT ซึ่งผลิตจากสังกะสีกันสนิม (GALVANIZED STEEL) และท่อพลาสติก (HDPE PIPE)
  3. ลวดเหล็กตีเกลียว (STRAND)
  4. STRESSING WORK ได้แก่การจัดหาและติดตั้ง SUPPORTING CHAIRS จัดวางท่อ DUCT หรือท่อพลาสติก (HDPE PIPE) และติดตั้งแผ่นเหล็กทรงกลม(ANCHOR DISC) ลิ่ม (WEDGES) และแผ่นเหล็กสมอ(ANCHOR PLATE) ตามแบบ SHOP DRAWING พร้อมทั้งการร้อยลวดเหล็กเข้าไปในท่อ การดึงลวด การตัดลวดและการอัดน้ำปูน (GROUTING)

บริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อทั้งในและนอกประเทศ โดยไม่มีการแยกราคาสินค้าและค่าติดตั้งออกจากกัน กรณีดังนี้ คือ
    1. การขายสินค้าระบบ POST-TENSION โดยไม่แยกราคาสินค้าและค่าติดตั้งออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้าทั้งหมด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า แต่เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องประกอบติดตั้ง จึงต้องถือว่าการส่งมอบสินค้าเกิดขึ้นเมื่อมีการติดตั้งเสร็จสิ้น
    2. การขายสินค้าดังกล่าวเมื่อผู้ซื้อชำระราคาสินค้าซึ่งรวมค่าติดตั้ง บริษัทฯ ไม่ต้องถูกหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
    3. สัญญาขายสินค้าระบบ POST-TENSION พร้อมติดตั้งโดยไม่มีการแยกราคาออกจากกัน ถือเป็นสัญญาซื้อขายสินค้า จึงไม่ต้องติดอากรแสตมป์แต่อย่างใด
    4. ในกรณีผลิตและขายส่งออกในนามของบริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราภาษีร้อยละ 0 หรือไม่

แนววินิจฉัย:  1. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
สัญญาขายสินค้าระบบ POST-TENSION พร้อมติดตั้งโดยมิได้แยกราคาค่าสินค้าและ
ค่าบริการติดตั้งออกจากกัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า เมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้าให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530
   2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
    (ก) สัญญาขายสินค้าระบบ POST-TENSION พร้อมติดตั้งโดยมิได้แยกราคาค่าสินค้า
และค่าบริการติดตั้งออกจากกัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่วันที่มีการติดตั้งเสร็จสิ้น
    (ข) การขายสินค้าระบบ POST-TENSION พร้อมติดตั้ง โดยการส่งออก หากการขาย
สินค้าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ใบขนสินค้าขาออกระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออก บริษัทฯ จึงเป็นผู้ส่งออกตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ของมูลค่าสินค้าส่งออกโดยใช้ราคา เอฟ.โอ.บี. ตามใบขนสินค้าเป็นฐานภาษี ตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
   3. กรณีอากรแสตมป์
สัญญาขายสินค้าระบบ POST-TENSION พร้อมติดตั้งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้า ฉะนั้น สัญญาดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารที่ต้องติดอากรแสตมป์ตามบัญชีอากรแสตมป์แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 60/26198

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020