เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/00023
วันที่: 7 มกราคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณรายจ่ายเนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ได้วางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ไว้ 3 วิธี โดยข้อ 3. กำหนดว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะเลือกคำนวณกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกดังกล่าวเป็นต้นไป แต่ไม่เกินห้ารอบระยะเวลาบัญชีก็ได้" นั้น ปฏิบัติตามกรณีนี้ ถูกต้องหรือไม่
      (1) บริษัทมีสิทธินำผลขาดทุนจากการตีราคาหนี้สินที่เกิดในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกของการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามประกาศกระทรวงการคลังลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 มาถือเป็นรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นต้นไป แต่ต้องไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี เท่ากับบริษัททยอยรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นรายจ่ายตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ได้จนถึงไม่เกินรอบระยะเวลาบัญชี 2544
      (2) ในกรณีที่บริษัทใช้วิธีคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ข้อ 3. โดยนำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาเฉลี่ยหักเป็นรายจ่าย 5 รอบระยะเวลาบัญชี หากในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 5 ซึ่งได้แก่ปี 2544 บริษัทมีผลกำไรสุทธิประจำปีน้อยกว่าผลขาดทุนสุทธิประจำปี (ซึ่งได้รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยดังกล่าวแล้ว) บริษัทมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธินั้นยกไปใช้ได้อีกต่อไป แต่ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับจากปี 2544 ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย:     1. กรณีตาม 1. จะต้องเป็นกรณีที่บริษัทฯ มีหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 2540 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกของการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และเมื่อได้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยแล้วมีผลขาดทุนเท่าใด บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนดังกล่าวมาเฉลี่ยออกเป็นกี่รอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี ไม่ว่าระยะเวลาการชำระหนี้จะเหลืออยู่มากหรือน้อยกว่า 5 รอบระยะเวลาบัญชีก็ตาม แต่ต้องระบุให้ชัดเจนว่าบริษัทได้เลือกใช้วิธีการคำนวณผลขาดทุนตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และเลือกเฉลี่ยกี่รอบระยะเวลาบัญชีซึ่งต้องใช้วิธีการนั้นกับทรัพย์สินหรือหนี้สินทุกรายการหรือทุกสัญญาโดยต้องใช้ทั้งในบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและในบัญชีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
      2. กรณีตาม 2. ถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 60/26274

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020