เลขที่หนังสือ | : กค 0811/02152 |
วันที่ | : 18 กุมภาพันธ์ 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ |
ข้อกฎหมาย | : ประเด็นปัญหา |
ข้อหารือ | : หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้ที่สมาชิกได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อพ้นสมาชิกภาพในส่วนที่เป็นเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ กรณี 1. สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลาออกจากกองทุนฯ แต่ยังไม่ได้ลาออกจากงาน 2. บริษัทฯ ยกเลิกกองทุนฯ โดยที่สมาชิกกองทุนฯ ยังมีสภาพเป็นพนักงานของบริษัทอยู่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีพนักงานของบริษัทฯ ได้รับเงินในส่วนที่เป็นเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่พนักงานยังไม่ได้ลาออกจากบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริง ถือว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับดังกล่าว เป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อพนักงานได้รับเงินได้ โดยยังมิได้ลาออกจากงานแต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามปกติ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งไม่มีสิทธิ์เลือกเสียภาษี ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ดังนั้น พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าว ไปรวมคำนวณกับเงินเดือนตามปกติ และบริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ เนื่องจากการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวหรือจำนวนครั้งที่รับเงินไม่แน่นอนหรือไม่สม่ำเสมอตลอดปี การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วย "หนึ่ง" แล้วรวมกับเงินเดือนทั้งปี เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักออกด้วยภาษีสำหรับเงินเดือนคงเหลือเท่าใดให้หารด้วย "หนึ่ง" ผลลัพธ์เท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น |
เลขตู้ | : 61/26417 |