เลขที่หนังสือ | : กค 0811/02158 |
วันที่ | : 18 กุมภาพันธ์ 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าสินค้าและค่าโฆษณาให้แก่บริษัทต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : ประเด็นปัญหา |
ข้อหารือ | : 1.1 กรณีการขายหนังสือ บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าหนังสือวารสารต่าง ๆ ในนามบริษัทฯและเสียภาษีนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยทางบริษัทผู้พิมพ์หนังสือต่างประเทศจะให้ส่วนลดแก่ทางบริษัทฯ จากราคาขายที่กำหนด และบริษัทฯ มีสิทธิ์ตั้งราคาหนังสือได้ 1.2 กรณีการขายโฆษณา บริษัทฯ จะให้บริการแนะนำและชักชวนให้ลูกค้ามาซื้อพื้นที่โฆษณาในวารสารต่างประเทศ บริษัทฯ จะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้าจากค่าพื้นทีโฆษณาที่ขายได้เป็นเปอร์เซนต์จากยอดขายของวารสารแต่ละฉบับ ซึ่งเป็นเปอร์เซนต์ค่านายหน้าไม่เท่ากันแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละบริษัทที่กำหนดไว้ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ต้องการมีข้อผูกมัดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ บริษัทฯ ต้องการที่จะมีสิทธิ์ในการซื้อและขายวารสารต่าง ๆ ได้โดยอิสระและสามารถชักชวนลูกค้าให้ซื้อพื้นที่โฆษณาในวารสารที่เห็นว่าเหมาะสมแก่กิจการของลูกค้าโดยมีตัวเลือกหลาย ๆ ฉบับ เพื่อให้โอกาสลูกค้าในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้นบริษัทฯ จึงไม่มีการเซ็นสัญญากับบริษัทต่างประเทศทั้งสิ้น เป็นการตกลงด้วยวาจา โดยบริษัทต่างประเทศจะบินมาเจรจากับบริษัทฯ โดยตรงและดูทำเลที่ตั้งของบริษัทด้วยก่อนจะทำการตกลงกัน ดังนั้น 1. เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบแจ้งหนี้จากบริษัทต่างประเทศที่เป็นเจ้าของวารสารต่าง ๆ ที่บริษัทสั่งซื้อไปโดยเป็นการซื้อขาดขายขาด บริษัทฯ จำเป็นต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือภาษีอื่น ๆ(ถ้ามี) สำหรับค่าวารสารเหล่านั้นก่อนทำการชำระเงินหรือไม่ ถ้าต้องหักจะต้องหักกี่เปอร์เซนต์ 2. ในกรณีที่ลูกค้าชำระค่าพื้นที่โฆษณาผ่านทางบริษัทฯ สำหรับวารสารต่างประเทศที่พิมพ์ในต่างประเทศเหล่านั้นที่บริษัทฯ จัดจำหน่ายอยู่ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้าในนามบริษัทฯ ทางบริษัทฯ จะต้องถูกลูกค้าในประเทศหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยหรือไม่ ถ้าต้องหักจะต้องหักกี่เปอร์เซนต์ และก่อนบริษัทฯ ทำการชำระคืนค่าพื้นที่โฆษณานั้นให้แก่บริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของวารสารนั้น ๆ ทางบริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือภาษีอื่น ๆ (ถ้ามี) หรือไม่ สำหรับค่าพื้นที่โฆษณาในวารสารต่างประเทศของบริษัทต่างประเทศนั้นด้วยหรือไม่ ถ้าต้องหักจะต้องหักกี่เปอร์เซนต์ 3. ในกรณีที่บริษัทเหล่านี้อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน (DOUBLE TAXATION) เงินค่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายหรือภาษีอื่น ๆ (ถ้ามี) เหล่านั้น สามารถนำไปหักกลบกับภาษีที่ประเทศตนได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณี บริษัท สั่งซื้อหนังสือหรือวารสารต่างประเทศ โดยได้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในการชำระค่าหนังสือดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับใบแจ้งหนี้จากบริษัทผู้พิมพ์หนังสือต่างประเทศ แล้วจะหักส่วนลดที่ได้รับนั้นแล้วจึงส่งเงินค่าหนังสือให้บริษัทผู้พิมพ์หนังสือในต่างประเทศการชำระเงินค่าหนังสือดังกล่าว บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด 2. กรณีค่าโฆษณา 2.1 บริษัทฯ เป็นผู้รับชำระค่าพื้นที่โฆษณาจากลูกค้าโดยตรงโดยใบเสร็จรับเงินค่าโฆษณาออกในนามบริษัทฯ และไม่ปรากฏว่าบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นตัวแทนของบริษัทผู้พิมพ์หนังสือหรือวารสารต่างประเทศแต่อย่างใด ดังนั้นเงินค่าโฆษณาดังกล่าว บริษัทฯ จึงต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 กรณีบริษัทลูกค้าจ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการจ่าย "ค่าโฆษณา" บริษัทลูกค้าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 2.0 สำหรับค่าสื่อโฆษณา ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.6/2528 เรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าโฆษณา ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 19/2530 ฯลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2530 2.3 กรณีการชำระเงินค่าโฆษณาแก่บริษัทผู้พิมพ์หนังสือ หรือวารสารต่างประเทศทั้งกรณีที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศที่มีหรือไม่มีข้อตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทยเงินค่าโฆษณาดังกล่าวถือเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรเมื่อบริษัทจ่ายค่าโฆษณาให้แก่ผู้พิมพ์หนังสือในต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศ จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 61/26418 |