เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กม 0811/พ.03481
วันที่: 19 มีนาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินของนิติบุคคลคู่สัญญา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 50 ทวิ, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 82/4, มาตรา 86, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 105
ข้อหารือ: กองรักษาเงิน ฝ่ายการบัญชี ธนาคารออมสินมีหน้าที่จ่ายเงินงบประมาณให้แก่นิติบุคคลที่เป็น
คู่สัญญากับธนาคารฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรณีเมื่อ
นิติบุคคลคู่สัญญาได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากธนาคารฯ ให้แก่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ดังนี้
1. ในการจ่ายเงินให้กับผู้รับโอนฯ ธนาคารฯ จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับผู้โอนฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิมกับธนาคารฯ หรือ
ผู้รับโอนฯ ซึ่งเป็นผู้รับเงิน
2. เงินที่ธนาคารฯ จ่ายให้กับผู้รับโอนฯ จะถือเป็นรายได้ของบุคคลใด และบุคคลใดเป็นผู้
มีหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีให้แก่ธนาคารฯ
แนววินิจฉัย: 1. เมื่อนิติบุคคลผู้โอนฯ ได้โอนสิทธิในการรับเงินตามสัญญาดังกล่าวให้กับผู้รับโอนฯ เข้า
ลักษณะเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 303 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ทำให้ภาระ
หน้าที่ของธนาคารฯ ในฐานะลูกหนี้ต้องชำระเงินให้กับนิติบุคคลผู้โอนฯ ตามสัญญาระงับไปแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อธนาคารฯ จ่ายเงินตามสัญญาให้กับผู้รับโอนฯ ธนาคารฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจาก
นิติบุคคลผู้โอนฯ ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทุกครั้ง พร้อมทั้งออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่นิติบุคคลผู้โอนฯ ด้วย
2. สำหรับนิติบุคคลผู้โอนฯ ในฐานะลูกหนี้ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น เมื่อผู้รับโอนฯ ได้รับ
ชำระเงินจากธนาคารฯ นิติบุคคลผู้โอนฯ ยังถือเป็นผู้รับเงินตามสัญญากับธนาคารฯ จึงเป็นผู้มีเงินได้พึง
ประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องออกใบรับให้แก่ธนาคารฯ ในทันทีทุกคราวที่
ธนาคารฯ จ่ายเงินให้แก่ผู้รับโอนสิทธิ ตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร และถ้านิติบุคคลผู้โอนเป็น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษีให้กับ
ธนาคารฯ ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26507

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020