เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/04292
วันที่: 9 เมษายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการร่วมค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 66, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 108) พ.ศ. 2524
ข้อหารือ: บริษัท A จำกัด บริษัท B จำกัด บริษัท C จำกัด บริษัท D จำกัด บริษัท E จำกัด และ
บริษัท F จำกัด ร่วมกันซื้อที่ดิน 1 แปลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างท่อรับและส่งผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ
เช่น การวางท่อส่งก๊าซต่าง ๆ ท่อส่งของเหลวหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นในลักษณะเดียวกัน ในการร่วมกันซื้อ
ที่ดินดังกล่าวได้มีเงื่อนไขว่า หากมีบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการอย่างเดียวกันประสงค์จะใช้ประโยชน์ใน
วัตถุประสงค์อย่างเดียวกันผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมทั้ง 6 ต้องให้ความยินยอม และผู้ขอเข้าร่วมกรรมสิทธิ์ต้อง
จ่ายค่าที่ดินให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมพร้อมดอกเบี้ย ขอหารือว่า
1. กิจการดังกล่าวเป็นกิจการร่วมค้าหรือไม่
2. หากว่าไม่เป็นกิจการร่วมค้า จะให้บริษัทปฏิบัติในการรับ-จ่ายอย่างไร
3. หากว่าเป็นกิจการร่วมค้า เมื่อรับเงินค่าที่ดินจากบุคคลที่เข้าร่วมกรรมสิทธิ์ใหม่แล้ว
กิจการร่วมค้าจะต้องจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะและจะจ่ายคืนค่าที่ดินตามราคาที่ซื้อมาให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิม
ทั้ง 6 รายได้หรือไม่
4. ผลกำไร หมายถึง ดอกเบี้ยที่คิดเท่ากับ N = A/x(1+i)n ของบันทึกข้อตกลงหลังหัก
ค่าใช้จ่ายจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 30 จากนั้นจะแบ่งให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมทั้ง 6 ราย
รายละเท่า ๆ กัน โดยผู้รับไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกใช่หรือไม่
N = ค่าที่ดินที่ผู้ประสงค์เข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมรายใหม่ต้องชำระ
I = MOR + 3% (ใช้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ณ วัน
ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายกับเจ้าของร่วม
A = ราคาที่ดินที่จัดซื้อจากผู้ขาย
x = จำนวนผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมรายเดิม + จำนวนผู้ประสงค์เข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ราย
ใหม่
n = ระยะเวลานับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
การดำเนินกิจการของบริษัททั้ง 6 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น
กิจการร่วมค้า จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร ใน
การคำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่า
จะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้
นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็น
รายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
ผลกำไรที่บริษัททั้ง 6 ได้จากการประกอบกิจการตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัททั้ง 6
ในฐานะกิจการร่วมค้า ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ
สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรที่บริษัทฯ ผู้เข้าร่วมค้า ซึ่งเป็นบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม
กฎหมายไทย ได้รับจากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ตามมาตรา 5 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 108) พ.ศ. 2524 ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2524
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีบริษัททั้ง 6 ยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือ
เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26576

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020