เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/795
วันที่: 22 เมษายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีประกันชีวิตหมู่
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1), มาตรา 65 ตรี
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประกันชีวิตพนักงานรวมทุกคน (ประกันชีวิตหมู่) และบริษัทฯ เป็น
ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงาน บริษัทฯ ได้จ่ายไป
จริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำ
มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และในส่วนของพนักงานนั้น
หากปรากฏว่าพนักงานไม่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ อันเนื่องมาจากการประกันชีวิต
ดังกล่าวจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างและบริษัทฯ ผู้รับประกันชีวิต ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ถูกต้อง
หรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ทำประกันชีวิตและสุขภาพให้แก่พนักงานที่ทำงานมาครบ 3 ปี
ทุกคน ซึ่งการทำประกันชีวิตดังกล่าวได้รับความยินยอมจากพนักงานเหล่านั้น โดยกรมธรรม์จะทำเพียง
ฉบับเดียว มิได้แยกเป็นรายบุคคล ระบุชื่อผู้ถือกรมธรรม์คือ บริษัทฯ และสมาชิกผู้เอาประกันภัยคือสมาชิก
ประจำทั้งหมดที่อยู่ปฏิบัติงานเต็มเวลามาแล้วสามปี ในวันที่มีผลบังคับของกรมธรรม์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี
และต่ำกว่า 65 ปี บริษัทฯ จะปิดประกาศรายละเอียดที่พนักงานจะได้รับสิทธิคุ้มครองไว้ให้พนักงานได้
ทราบ พร้อมทั้งเรียกพนักงานตั้งแต่ระดับ SUB LEADER ขึ้นไปมาอธิบายและชี้แจงรายละเอียด เพื่อแจ้ง
ให้พนักงานในบังคับบัญชาได้ทราบต่อไป กรณีพนักงานได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ทางบริษัทผู้เอาประกัน
จะจ่ายค่าชดเชยการเรียกร้องของพนักงานคืนมาให้เป็นเช็คในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเบิกจ่าย
เป็นเงินสดให้แก่พนักงานหรือผู้รับผลประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้น ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ที่แท้จริง คือ พนักงาน โดยบริษัทฯ เป็นเพียงผู้จ่ายค่า
เบี้ยประกันและเบิกจ่ายค่าชดเชยแทนพนักงานเท่านั้น เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทฯ จ่ายแทนพนักงาน จึง
ถือเป็นประโยชน์เพิ่มจากการจ้างแรงงานของพนักงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์อันเป็นสมาชิกผู้เอาประกันภัยแต่ละคน
จะต้องนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะส่วนของตนไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และกรณีบริษัทฯ จ่ายเงินชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงาน บริษัทฯ
สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา
65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26603

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020