เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/05104
วันที่: 29 เมษายน 2541
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีขอยกเว้นการจัดเก็บอากรแสตมป์ใบรับในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2 (6), มาตรา 104, มาตรา 122, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244)
ข้อหารือ: ธนาคาร ก จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือขอให้กรมที่ดินพิจารณายกเว้นการจัดเก็บ
อากรแสตมป์ ใบรับในการจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ธนาคารฯ ได้รับจากการชำระหนี้หรือจากการ
ประกันการให้สินเชื่อหรือจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองไว้แก่ธนาคารฯ จากการขายทอดตลาดโดย
คำสั่งศาล หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งธนาคารฯ จำหน่ายไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่
อสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของธนาคารฯ แล้ว โดยอ้างว่าธนาคารฯ ต้องนำรายรับที่ได้จาก
การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่แล้ว แต่สาเหตุในการจดทะเบียนขายพนักงาน
เจ้าหน้าที่ได้เรียกเก็บอากรแสตมป์ใบรับ เนื่องจากหลักฐานใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20)
ของธนาคารฯ ระบุประเภทของกิจการว่า "การธนาคาร" มิใช่ "การขาย อสังหาริมทรัพย์" และ
ทุกครั้งที่ธนาคารฯ ชำระอากรแสตมป์ไปแล้ว ธนาคารฯ จะต้องไปยื่นคำร้องขอคืนอากรแสตมป์จาก
กรมสรรพากร เป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและธนาคารฯ ที่จะต้องดำเนินการคืนอากรแสตมป์
ดังกล่าว
การจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บ
อากรแสตมป์ใบรับหรือไม่ อย่างไร และกรณีผู้ออกใบรับรายใดแสดงหลักฐานใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
(ภ.ธ.20) ที่ระบุประเภทของการประกอบกิจการเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ประเภท "การค้าอสังหาริมทรัพย์"
ผู้ออกใบรับนั้นจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28. ใบรับ "ยกเว้นไม่ต้อง
เสียอากร" แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติ่มโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534
หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยที่มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ขาย มีหน้าที่เสีย
อากรแสตมป์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะตราสาร
28. ใบรับซึ่งระบุว่า "ใบรับ เฉพาะตามที่ได้ระบุต่อไปนี้ ...(ข) ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิ
ใดๆ เกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย"
พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บอากรแสตมป์ใบรับ
แต่เนื่องจากการที่ธนาคารฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ตามข้อเท็จจริงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์
ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.
2534 ซึ่งเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ จึงต้องนำรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ใบรับจากการโอนกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงได้รับยกเว้น
ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสาร 28. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ หากผู้ขายอสังหาริมทรัพย์
นั้นได้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วนับแต่วันที่ได้รับชำระราคาถึงวันโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใน
อสังหาริมทรัพย์นั้นแล้วแต่กรณี โดยคำนวณภาษีจากราคาทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน
ขณะที่มีการจดทะเบียนหรือทุนทรัพย์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่
อย่างใดจะมากกว่า และได้นำหลักฐานการเสียภาษีดังกล่าวมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยหลักฐาน
นั้นแสดงให้เห็นว่าได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเอกสารแสดงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์แล้ว เพื่อไม่ให้เป็น
ภาระแก่ผู้เสียภาษีที่จะต้องร้องขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากรใน
ภายหลัง เพราะเหตุที่ได้ชำระอากรแสตมป์ในขณะที่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตรวจหลักฐานเสียภาษีธุรกิจเฉพาะใน
กรณีดังกล่าว และบันทึกไว้ในสัญญาซื้อขายด้วยว่า "ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28.
แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และได้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ตามใบเสร็จรับชำระภาษี เลขที่...
เล่มที่.. ของสำนักงานสรรพากรอำเภอ/เขต..." โดยไม่ต้องเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ในลักษณะ
ตราสารดังกล่าวอีก
เลขตู้: 61/26630

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020