เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/05223
วันที่: 30 เมษายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จากการแบ่งสินสมรส
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 40 ทวิ, มาตรา 49 ทวิ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.9/2538ฯ
ข้อหารือ: นาง ก. และนาย ข. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานาง ก. ได้เป็นโจทก์
ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรส โดยแถลงว่า ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันได้เกิดมีทรัพย์สินระหว่างสามี
ภริยาหลายรายการ เช่น ที่ดิน หุ้น เงินฝากในธนาคารต่าง ๆ พร้อมดอกเบี้ย สิ่งปลูกสร้างอาคารชุด
(คอนโดมิเนียม)เป็นต้น และต่อมาได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คือโจทก์และจำเลยตกลง
หย่าขาดจากการเป็นสามีและภริยากันนับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นต้นไป และจำเลย
ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่โจทก์รวม 26 รายการ ทั้งโจทก์และจำเลยต่างให้ถือ
เอาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวเป็นการแบ่งสินสมรสระหว่างกันเรียบร้อยแล้ว ทรัพย์สินใด ๆ
ของโจทก์หรือจำเลยนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
และศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม นาง ก. ได้ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัด ได้แจ้งให้
เจ้าพนักงานที่ดินทราบว่าเป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากการแบ่งสินสมรส โดยคำพิพากษาของ
ศาลและสัญญาประนีประนอมยอมความเจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 100.- บาท
แต่ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้นาง ก. ไปชำระค่าธรรมเนียมและภาษีเพิ่มเติม ซึ่งนาง ก.
ได้ไปชี้แจงแล้วแต่เจ้าพนักงานฯ ยืนยันให้ชำระเพิ่มนาง ก. จึงต้องชำระภาษีไป เป็นเงิน 244,180.-
บาท
การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จากการแบ่งสินสมรส ที่สินสมรสมีราคาคิดเป็นเงิน
รวมทั้งสิ้น 5,475,823,650.- บาท แต่นาง ก. ได้ยอมรับเอาทรัพย์สินเฉพาะตามที่ระบุไว้ใน
สัญญาประนีประนอมยอมความได้แก่ ที่ดิน จำนวน 26 รายการ คิดเป็นเงินเพียง 854,077,650.-
บาท ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งตามสิทธิ์ที่จะได้รับตามกฎหมายในการแบ่งสินสมรส (เป็นเงิน
2,737,911,825.-บาท) เป็นการแบ่งสินสมรสที่เป็น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีราคาของแต่ละฝ่ายเท่ากัน
หรือไม่เกินส่วนนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการโอน อสังหาริมทรัพย์ ตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.9/2528 ฯ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 และมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง การแบ่งสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาแต่ละฝ่ายเท่ากัน ไม่
ถือเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามข้อ 1 (11) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.9/2528 ฯ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 แต่ถ้าเป็นการแบ่งสินสมรสที่
เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาแต่ละฝ่ายไม่เท่ากัน ฝ่ายที่ได้รับการแบ่งสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมี
ราคามากกว่าสิทธิ์ที่มีอยู่กึ่งหนึ่ง เข้าลักษณะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์
โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และถือว่าผู้โอนมีเงินได้และ
ต้องเสียภาษีตามมาตรา 41 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนด
ราคาขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยคิดราคาที่พึงได้รับจากการขาย
ที่ดินนั้นตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม
ประมวลกฎหมายที่ดิน
เลขตู้: 61/26635

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020