เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.05378
วันที่: 6 พฤษภาคม 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากลูกค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 79
ข้อหารือ: วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 บริษัทได้ตกลงขายสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยคิดราคาสินค้าจำนวน
5,040,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7.0 จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 5,392,800 บาท และบริษัทฯ ได้
รับชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวทั้งหมดจากลูกค้าแล้ว ซึ่งบริษัทฯ ถือว่าการขายสินค้าได้สิ้นสุดแล้ว ต่อมา
วันที่ 30 มกราคม 2541 บริษัทฯ ได้ชำระค่าสินค้านี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนเงิน
18,000,000 เยน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันชำระเงินค่าสินค้าเท่ากับ 0.43965 เป็นเงิน
7,913,700 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่คำนวณเป็นต้นทุนของสินค้าเมื่อวันที่ 1
พฤษภาคม 2540 ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยน 0.258867 คำนวณเป็นเงิน 4,659,606 บาท บริษัทฯ จึงมีผล
ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังนี้
อัตราแลกเปลี่ยน ณ 30 มกราคม 2541 0.43965 x 18,000,000 = 7,913,700 บาท
อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 พฤษภาคม 2540 0.258867 x 18,000,000 = 4,659,606 บาท
ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน = 3,254,094บาท
บริษัทฯ จึงได้เจรจาขอให้ลูกค้าช่วยเหลือรับภาระผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนนี้ ซึ่ง
ลูกค้ายินยอมช่วยเหลือบางส่วน โดยมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า บริษัทฯ ไม่ได้มีข้อผูกมัดที่จะ
ต้องตอบแทนหรือกระทำการใด ๆ ให้แก่ลูกค้า บริษัทฯ จึงหารือว่าการที่บริษัทออกใบแจ้งหนี้
เรียกเก็บเงินช่วยเหลือที่ลูกค้ายินยอมจ่ายให้บริษัทฯ ดังกล่าว เงินช่วยเหลือที่เรียกเก็บดังกล่าวอยู่ใน
ข่ายที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่ลูกค้าของบริษัทฯ ยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือผลขาดทุนจากอัตรา
แลกเปลี่ยนบางส่วนให้แก่บริษัทฯ โดยมีลักษณะเป็นการให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องตอบแทนหรือ
ให้บริการหรือกระทำการใด ๆ สำหรับเงินที่ได้รับดังกล่าว เงินได้ดังกล่าวจึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษี
สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่บริษัทฯ จะต้องนำเงินช่วยเหลือดังกล่าวไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย โดยถือเป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี ตาม
มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26643

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020