เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/05486
วันที่: 7 พฤษภาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาระภาษีของกองทุนส่วนบุคคล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 40 (4), มาตรา 47 (7) (ข),มาตรา 48 (3), มาตรา 50 (2), มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี, มาตรา 77/1 (10) (ข),มาตรา 82/5 (6), กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
ข้อหารือ: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้พิจารณาให้ใบอนุญาต
ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลแก่ บลจ. ก. ในการประกอบธุรกิจ
หลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล บลจ. ก. จะต้องเสียภาษีอากร อย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย: ผู้เป็นเจ้าของกองทุนส่วนบุคคล คือ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่นำไปมอบให้บริษัทที่ได้รับ
อนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ดังนั้น ผลประโยชน์ที่กองทุนส่วนบุคคลจะ
ได้รับ แยกตามสถานะของผู้มีเงินได้จะมีภาระภาษีดังนี้
1. กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา จะมีภาระภาษีแยกตามประเภทต่าง ๆ ของเงินได้
ดังนี้
(ก) กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หาก
เงินได้ดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์
ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้
จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดย
เฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรือ
อุตสาหกรรม อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 50 (2) (ข)
แห่งประมวลรัษฎากร และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไป
รวมคำนวณภาษีตอนสิ้นปี ตามมาตรา 48 (3) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หาก
เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องถูกหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 50 (2) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร และหาก
ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวม
คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตอนสิ้นปี สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้
รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยกองทุนรวมหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมาย
โดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือ
อุตสาหกรรม ตามมาตรา 48 (3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้
กรณีผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีภูมิลำเนาใน
ประเทศไทยหรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและได้รับเงินได้ดังกล่าวจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้ง
ขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น
ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตใน
การคำนวณภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
(ค) กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หาก
เงินได้ดังกล่าวเป็นผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน
และผู้มีเงินได้เป็นผู้ทรงคนแรก อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตาม
มาตรา 50 (2) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 โดย
ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตอนสิ้นปีตามมาตรา 48 (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(ง) กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หาก
เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงเงินได้
จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126
(พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (23)
กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และได้รับเงินได้ที่เป็นผลประโยชน์ที่ได้
จากการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 50 (2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และได้รับเงินได้ที่เป็นผลประโยชน์ที่
ได้จากการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 50 (2) (ก) แห่ง
ประมวลรัษฎากร เว้นแต่จะมีบทบัญญัติในอนุสัญญาภาษีซ้อนบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
(จ) กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หากได้
รับเงินได้ที่เป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน อยู่
ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 50 (2) (ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตอนสิ้นปี ตามมาตรา 48 (3) (ค)
แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่กรณีตามข้อ 2 (30) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออก
ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 196
(พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้น
ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
2. กรณีผู้มีเงินได้เป็นกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไป กลุ่มบุคคล
ดังกล่าวมีฐานะเป็นคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งมีภาระภาษีเช่นเดียวกับ 1. โดยผู้อำนวยการ
หรือผู้จัดการเป็นผู้ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ในนามของคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ตาม
มาตรา 56 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่กรณีที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวประกอบด้วย สามี ภรรยา
โดยชอบด้วยกฎหมายและความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี
3. กรณีผู้มีเงินได้มีฐานะเป็น บุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มี
หน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ภายในเดือน
มีนาคมทุก ๆ ปี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
4. กรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด
ผู้มีเงินได้ดังกล่าวมีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะ
มีภาระภาษีดังนี้
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
(ก) กรณีเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่ง
ประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ผู้จ่ายเงินได้เป็นธนาคารตามกฎหมาย
ว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และ
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการใน
ประเทศไทย อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ข้อ 4 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530
(ข) กรณีเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม สถาบันการเงินที่
มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม
หรืออุตสาหกรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้จ่ายให้แก่ผู้รับ ซึ่งเป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทยหรือ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึงบริษัทตาม (1) และ (2) ของข้อ 5
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0
ตามข้อ 5 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
(ค) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้
ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ที่จ่ายจากหรือจ่ายในประเทศไทยอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ
15 เว้นแต่เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีในอัตรา
ร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม
กฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยนั้น จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศที่มี
อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ภาระภาษีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติในอนุสัญญา
ดังกล่าว
(ง) กรณีผู้มีเงินได้เป็นมูลนิธิ หรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ ผู้มีเงินได้
ดังกล่าวมีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หากได้รับ
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝาก
ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ที่ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบ
ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้จ่ายอยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ใน
อัตราร้อยละ 10.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ข้อ 4 (2)
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
(ก) กรณีผู้มีเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิ
ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) กรณีผู้มีเงินได้เป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อื่นมิใช่
รายได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่ายใน
อัตราร้อยละ 10 และกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จะได้รับการ
ลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 2
5. กรณีผู้มีเงินได้เป็น วัด มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47
(7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกองทุนส่วนบุคคลเป็นการนำทรัพย์สินไปลงทุนโดยการนำ
เงินไปฝากธนาคาร ซื้อหลักทรัพย์ ไม่อยู่ในความหมายของ "บริการ" ตามมาตรา 77/1 (10) (ข)
แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กองทุนส่วนบุคคลจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่อยู่ในบังคับ
ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ากองทุนส่วนบุคคลของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูก
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตาม
มาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 61/26656

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020