เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/07267
วันที่: 29 พฤษภาคม 2541
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีสัญญากู้ยืมเงิน
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 259)
ข้อหารือ: ลูกค้าได้ทำสัญญาเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศกับกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารฯ สัญญา
ฉบับดังกล่าวได้รับการยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 10 (20) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตาม
ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ต่อมาหนี้รายดังกล่าวนี้
ได้แปลงสภาพจากหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศไปเป็นหนี้เงินบาทที่สำนักงานใหญ่ โดยยังคงใช้สัญญา
เงินกู้ยืมฉบับเดิมไม่เปลี่ยนแปลงธนาคารฯ จึงมีปัญหาว่าสัญญาเงินกู้ยืมดังกล่าวต้องชำระค่าอากรแสตมป์
หรือไม่ เมื่อหนี้ได้แปลงสภาพหนี้ไปเป็นหนี้เงินบาทที่สำนักงานใหญ่แล้ว
แนววินิจฉัย: การประกอบกิจการของธนาคารพาณิชย์ เป็นกิจการที่ไม่ได้รับการยกเว้นอากรแสตมป์ ตาม
มาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่
10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 259) พ.ศ. 2535 ดังนั้น เมื่อมีการนำสัญญากู้ยืมเงินตราต่างประเทศที่ได้ทำ
ไว้กับกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารฯ มาแปลงสภาพหนี้เป็นหนี้เงินบาทที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารฯ
แม้ว่ายังคงใช้สัญญากู้ยืมเงินฉบับเดิมไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม ถือเป็นกรณีที่ลูกค้าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจาก
ธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ได้รับการยกเว้นอากรแสตมป์แต่อย่างใด ธนาคารฯ ผู้ให้กู้จึงมีหน้าที่ต้องเสีย
อากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 5 แห่งบัญชีอากรแสตมป์ กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้
เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
เลขตู้: 61/26720

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020