เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/07455
วันที่: 3 มิถุนายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีรับโอน
สิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการ 56 แห่ง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 77/1, มาตรา 77/2, มาตรา 78, มาตรา 78/1, มาตรา 79, มาตรา
104, กฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528,
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นบริษัทเงินทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้จัดตั้งขึ้น
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของระบบสถาบันการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเข้าประมูลหรือ
แข่งขันราคาหรือรับซื้อ หรือรับโอนสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการและไม่อาจ
แก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้ และโดยที่ ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบ
สถาบันการเงิน) ได้ประกาศการจำหน่ายทอดตลาดเพื่อจำหน่ายสินทรัพย์ประเภทลูกหนี้เช่าซื้อของ
สถาบันการเงินที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการ 56 แห่งบริษัทฯ มีโครงการที่จะเข้าร่วมประมูลแข่งขัน
ราคาเพื่อรับซื้อหรือรับโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อของสถาบันการเงินดังกล่าว บริษัทฯ ขอทราบ
ปัญหาภาระภาษีอากรเพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป ดังนี้
1. กรณีที่บริษัทฯ ชนะการประมูลแข่งขันราคา ค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้
เช่าซื้อที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงิน 56 แห่ง จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะคำนวณจากค่าตอบแทนที่จ่ายตามราคาที่ประมูลได้ หรือคำนวณจากยอดหนี้คง
ค้างของลูกหนี้เช่าซื้อที่บริษัทฯ ได้รับโอน
2. การโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อ สถาบันการเงินผู้โอนซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อเดิมต้อง
จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ให้ลูกค้าเช่าซื้อให้บริษัทฯ ผู้รับโอน กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
3. ส่วนต่างที่เกิดจากค่าตอบแทนในการโอนสิทธิเรียกร้องตามราคาที่บริษัทฯ ประมูลได้กับ
ยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้เช่าซื้อที่รับโอนมา บริษัทฯ จะต้องรับรู้เป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
และภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
4. สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เดิมได้รับสิทธิให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป
หากบริษัทฯ ยังคงใช้สัญญาเช่าซื้อฉบับเดิมโดยมีเอกสารแนบท้ายเปลี่ยนแปลงสิทธิในตัวลูกหนี้เป็นของ
บริษัทฯ สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวยังคงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไปหรือไม่
5. สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับสิทธิให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ซึ่ง
ลูกหนี้เช่าซื้อได้ค้างชำระค่างวดและสถาบันการเงินผู้ให้เช่าซื้อเดิมได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยทำเป็น
หนังสือแจ้งต่อผู้เช่าซื้อแล้ว ต่อมาลูกหนี้ติดต่อขอชำระค่างวดต่อตามสัญญาเดิม หรือขอชำระเงินที่เหลือ
ทั้งหมดรวมครั้งเดียว กรณีดังกล่าว บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกหนี้เช่าซื้อในอัตราใด
6. สัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ จะต้องติดอากรแสตมป์หรือไม่ และ
ผู้โอนหรือผู้รับโอนเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์
7. กรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถแข่งขันประมูลราคาเพื่อรับโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อ
รถยนต์จากสถาบันการเงิน 56 แห่ง หากบริษัทฯ รับจ้างเก็บเงินค่างวดจากลูกหนี้เช่าซื้อ โดยเรียกเก็บ
ค่าบริการจากผู้ว่าจ้างเป็นอัตราร้อยละของจำนวนเงินค่างวดที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ บริษัทฯ จะต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อใด
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. การขายหรือการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่ง
เป็นสิทธิในทรัพย์สินที่อยู่ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เข้าลักษณะเป็นการ "ขายสินค้า" ตามมาตรา
77/1 (8)และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากรดังนั้น หากบริษัทฯ ชนะการประมูลลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิด
กิจการ 56 แห่ง ในการโอนสิทธิเรียกร้องจากผู้โอน (สถาบันการเงิน 56 แห่ง) ไปยังผู้รับโอน
(บริษัทฯ) ผู้โอนจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดของค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับ ตาม
มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งค่าตอบแทนที่พึงได้รับที่ต้องนำไปเป็นฐานภาษีในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือตามจำนวนเงินค่าขายทอดตลาดที่ผู้โอนได้รับ โดยความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้โอนได้รับชำระราคาค่าตอบแทนจากการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อ
รถยนต์ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534)
2. กรณีตาม 2. การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อจากสถาบันการเงิน
ผู้โอน ให้กับบริษัทฯ ผู้รับโอน เป็นเพียงการดำเนินการทางเอกสารเพื่อให้หลักฐานทางทะเบียนรถยนต์
ถูกต้องตามความเป็นจริงเนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อ กรณีดังกล่าวมิใช่การ จำหน่าย
จ่าย โอนสินค้า จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่
ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
3. กรณีตาม 3. ส่วนต่างระหว่างราคาค่าตอบแทนในการโอนสิทธิเรียกร้องกับยอดหนี้คง
ค้างของลูกหนี้เช่าซื้อ เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ บริษัทฯ ผู้รับโอนจะต้องนำไป
ถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยทยอยรับรู้เป็นรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามงวดที่ถึงกำหนดชำระของลูกหนี้แต่ละราย ตาม
ข้อ 4.3 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 และ
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ผู้ให้เช่าซื้อ เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่
ถึงกำหนดชำระแต่ละงวด ตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
4. กรณีตาม 4. การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อโดยได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ด้วย
การแปลงหนี้หรือโอนหนี้หลังวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกหนี้
เช่าซื้อรถยนต์ในอัตราร้อยละ 10.0
5. กรณีตาม 5. สัญญาเช่าซื้อที่ได้รับสิทธิให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป
ซึ่งสถาบันการเงินผู้ให้เช่าซื้อเดิมได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อผู้เช่าซื้อแล้ว ดังนั้น
นับแต่เดือนภาษีที่ส่งหนังสือแจ้งเลิกสัญญา ถือว่าไม่มีการขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้ออีกต่อไป
ผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องออกใบกำกับภาษีและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามงวดที่ถึงกำหนดชำระแต่ละงวด ทั้งนี้ ตาม
ข้อ 2 (6) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536
6. กรณีตาม 6. สัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ไม่เข้าลักษณะแห่ง
ตราสารใดตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดว่าด้วยอากรแสตมป์ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104
แห่งประมวลรัษฎากร
7. กรณีตาม 7. การรับจ้างเก็บเงินค่างวดจากลูกหนี้เช่าซื้อ โดยเรียกเก็บค่าบริการจาก
ผู้ว่าจ้างเป็นอัตราร้อยละของจำนวนเงินค่างวดที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตาม
มาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อ
ได้รับชำระราคาค่าบริการ ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26737

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020