เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/08407
วันที่: 10 มิถุนายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (1)(ค)
ข้อหารือ: ธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะนำสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนที่ได้ตั้งไว้ทางบัญชี แต่ยังไม่
ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางบัญชีมาทยอยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีต่อ ๆ ไปได้หรือไม่ เช่นกรณีตัวอย่าง
ณ 31 ธันวาคม 2539 ในงบดุลของธนาคาร ก. มีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน
2,300 บาท ในจำนวนนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 300 บาท
- ส่วนที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2,000 บาท
สำหรับงวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคาร ก. ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้
สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจำนวน 200 บาท ดังนั้น ในงบดุลของธนาคาร ก. ณ 31 ธันวาคม 2540 จะมี
สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 2,500 บาท (เดิม 2,300 บาท ใหม่ 200 บาท) ในจำนวนนี้
ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 300 บาท
- ส่วนที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2,200 บาท
เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกันเงินสำรองหนี้สูญ
ตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่มีความเข้มงวดขึ้นเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย
ถือว่าจำนวนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามที่ปรากฏในงบดุลทั้งหมดถือเป็นการกันสำรองตามหลักเกณฑ์
ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามตัวอย่าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 เท่ากับ 2,500 บาท (แยก
เป็นส่วนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 300 บาท และส่วนที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว 2,200
บาท)
จึงหารือว่า ธนาคาร ก. จะนำสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 300 บาท ที่ยังไม่ได้ใช้
สิทธิประโยชน์ทางภาษีมาใช้คำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีปี 2540 เป็นต้นไป ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นธนาคาร ก. ไม่มีสิทธินำเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน
300 บาทที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดปี 2539 มาถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 เนื่องจากตามมาตรา
65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 กำหนดให้ธนาคารมีสิทธินำเงินสำรองที่กันไว้เป็น
ค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าว ที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน
ดังนั้น ตามตัวอย่างคือ 2,500 - 2,300 = 200 บาท เท่านั้น
เลขตู้: 61/26765

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020