เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/1223
วันที่: 26 มิถุนายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 27 ตรี
ข้อหารือ: (1) กรณีที่ธนาคารพาณิชย์สาขาต่าง ๆ จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินที่เป็นบริษัท
หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ผิดอัตรา กล่าวคือ ธนาคารมีหน้าที่ต้องหักภาษีในอัตรา
ร้อยละ 1.0 แต่ได้หักไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ธนาคารจึงชดใช้เงินให้ลูกค้าในอัตราร้อยละ 14.0
แล้ว จึงมาขอคืนจากกรมสรรพากรในฐานะผู้เสียประโยชน์ เช่นนี้ธนาคารพาณิชย์สาขาที่เป็นผู้จ่าย
ดอกเบี้ยและหักภาษีไว้ผิดนั้น จะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี (ค.10) ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่
ธนาคารพาณิชย์สาขาตั้งอยู่ได้หรือไม่ หรือจะต้องให้ธนาคารสำนักงานใหญ่เป็นผู้ยื่นคำร้องขอคืน (ค.10)
ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่นั้นตั้งอยู่
(2) ในการพิจารณาคืนเงินภาษีในประเด็นดังกล่าว ตาม (1) จะต้องตรวจสอบ
เอกสารหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย: กรณีตาม (1) ตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539
ข้อ 4 นิยามคำว่า "ภูมิลำเนา" ไว้ว่า "กรณีผู้ขอคืนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" หมายความว่า
"ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ตามที่ผู้ขอคืนได้แจ้งและจดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ
สำนักงานประกอบธุรกิจที่ตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ" ดังนั้น กรณีธนาคารสาขาเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและ
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ผิด สำนักงานใหญ่ธนาคารดังกล่าวต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี ณ สำนักงาน
ภาษีสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
กรณีตาม (2) ธนาคารเป็นผู้ขอคืนภาษีเนื่องจากการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้เกิน
หรือผิดหรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียและธนาคารได้นำเงินชดใช้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของ
ผู้ฝากเงินไปแล้ว ถ้าธนาคารแสดงหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ฉบับที่ 1 แสดงการหัก
ภาษีในอัตราร้อยละ 15.0 คืนจากผู้ถูกหัก และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ
1.0 ให้แทน พร้อมหลักฐานแสดงว่าได้นำเงินชดใช้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ฝากไปแล้ว ให้
พิจารณาคืนภาษีให้แก่ธนาคารได้ และให้เก็บหลักฐานดังกล่าวแนบกับแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ
ที่จ่าย ของเงินเดือนที่หักไว้ผิดนั้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบการเครดิตภาษีของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ภายหลัง
เลขตู้: 61/26838

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020