เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/1281
วันที่: 2 กรกฎาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีขอผ่อนชำระภาษีกลางปี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 22, มาตรา 26, มาตรา 27, มาตรา 67 ทวิ, มาตรา 67 ตรี
ข้อหารือ: บริษัทขอผ่อนชำระภาษีเงินได้กลางปี 2540 (ภ.ง.ด.51) ในวันที่ 31 สิงหาคม 2540
เป็นเงินประมาณ 1,500,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 งวด โดยไม่เสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ โดย
บริษัทฯ ได้วางหนังสือประกันจากธนาคาร เพื่อค้ำประกันการชำระเงินภาษีดังกล่าว
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิ ภ.ง.ด.51 ตามมาตรา 67
ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และขอผ่อนชำระภาษีอากรเป็น 3 งวด ซึ่งตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วย
การผ่อนชำระภาษีอากร พ.ศ. 2539 กระทำได้ดังนี้
1. ต้องยื่นคำร้องตามแบบ ท.ป.2 หนึ่งชุด ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอที่
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
2. แนบเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น งบยอดเงินคงเหลือในธนาคารที่ยังมีบัญชีกันอยู่
งบกำไรขาดทุน งบดุล และหลักประกัน เช่น หนังสือค้ำประกันของธนาคาร
3. ต้องชำระภาษีอากรงวดแรกทันทีที่ยื่นคำร้อง ส่วนงวดต่อ ๆ ไป ให้ชำระภายใน
เวลาที่ได้รับอนุมัติ
เนื่องจากการขอผ่อนชำระภาษีอากรนั้น เป็นการเร่งรัดภาษีอากรวิธีหนึ่งเมื่อผู้เสียภาษี
ได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีอากรออกเป็น 3 งวด ๆ ละเท่า ๆ กัน งวดแรกชำระภาษีอากรพร้อมกับ
การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 จึงเป็นการชำระภาษีภายในกำหนดเวลาเฉพาะงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ถือว่า
มิได้เป็นการชำระภาษีภายในกำหนดเวลา บริษัทฯ ผู้เสียภาษีอากรต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5
ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
การเรียกเก็บเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นกรณีที่
บริษัทฯ ไม่ยื่นรายการและชำระภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือยื่นรายการและชำระภาษีภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้าย ของรอบ
ระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน
ร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
โดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีผู้เสียภาษีได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร จึงไม่เข้า
ลักษณะที่จะต้องเสียเงินเพิ่ม ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
การเรียกเก็บเบี้ยปรับ ตามมาตรา 22 และมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร จะ
เรียกเก็บได้เฉพาะกรณีที่มีการออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและประเมินภาษีเงินได้
เลขตู้: 61/26881

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020