เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10257
วันที่: 10 กรกฎาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการให้สินเชื่อของกองทุนสิ่งแวดล้อม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/3, มาตรา 105 ทวิ, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 316) พ.ศ. 2541, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2535
ข้อหารือ: ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หมวด 2
ว่าด้วยกองทุนสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้น ณ กระทรวงการคลังเพื่อเป็นมาตรการส่งเสริม
การเงินเพื่อจูงใจให้มีการยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการ
กองทุนสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนฯ มีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและ
สิ่งแวดล้อม เป็นประธานผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการและเลขาธิการสำนักนโยบายและ
แผนสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ
เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 23 (2)
และ (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นั้น เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนกู้ยืม
เงินกองทุนฯ เพื่อนำไปจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสีย และ
เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ ปัจจุบันคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มอบหมาย
ให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)เป็นผู้จัดการ
กองทุนในเงินกองทุนที่จัดสรรให้ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนกู้ยืม บทบาทหน้าที่
ความรับผิดชอบของผู้จัดการกองทุนคือ จะเป็นผู้พิจารณา วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการที่ขอ
อนุมัติกู้ยืมเงินกองทุนทั้งในด้านการลงทุนและด้านวิชาการ และเป็นผู้ติดตามทวงถามและรับเงินที่ผู้กู้
ชำระคืน พร้อมทั้งดอกเบี้ยส่งเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็น
ผู้จัดการกองทุนในเงินกองทุนฯ ส่วนที่จัดสรรเงินกู้ให้ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจและเอกชน ยกเว้น
ส่วนที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม และให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการกองทุนใน
เงินกองทุนฯ ส่วนที่จัดสรรให้เอกชนกู้ ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานในส่วนที่จะปล่อยให้มีการกู้เงินจากกองทุน
สิ่งแวดล้อมอยู่ในขั้นตอนที่พร้อมจะเริ่มปฏิบัติงานได้แล้ว
จึงขอทราบว่า
1. กองทุนสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือไม่
2. หากต้องเสีย
(1) ใครเป็นผู้ดำเนินการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และยื่นรายการเพื่อเสียภาษี
(2) ใครเป็นผู้ดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
(3) ใครเป็นผู้ออกใบรับในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
(4) แบบฟอร์มเอกสารต่าง ๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินรายงานต่าง ๆ มีรูปแบบอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. คณะกรรมการกองทุนซึ่งจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
แห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด
สำหรับการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ขอ
ให้ไปติดต่อ ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ เพื่อกำหนดเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อไป ตามข้อ 8
ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้
เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2539
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ การประกอบกิจการของกองทุนสิ่งแวดล้อมได้รับยกเว้น
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/3 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (5) แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้น
ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 316) พ.ศ. 2541
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าคณะกรรมการกองทุนไม่ได้ดำเนินการขายสินค้า หรือให้บริการใน
ทางธุรกิจหรือวิชาชีพอื่นใดอีก คณะกรรมการกองทุนจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
4. สำหรับการออกใบรับเพื่อเป็นหลักฐานการรับชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคณะกรรมการ
กองทุนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำหรือจะมอบอำนาจให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดำเนินการแทนในส่วนที่ได้รับจัดสรร
ก็ได้ กรณีดังกล่าวกรมสรรพากรไม่ได้กำหนดรูปแบบของการออกหลักฐานดังกล่าวไว้แต่อย่างใด เพียงแต่
กฎหมายได้กำหนดให้มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26888

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020