เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11962
วันที่: 11 สิงหาคม 2541
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต
ข้อกฎหมาย: มาตรา111, มาตรา113
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการปิโตรเคมี ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทต่างประเทศ ซึ่งตั้งขึ้นตาม
กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา "บริษัท A" เพื่อศึกษาการขยายการผลิตและให้คำปรึกษาในด้าน
กระบวนการผลิตโครงการอะโรเมติกส์และรีฟอร์เมอร์ มาบตาพุด ประเทศไทย โดยมีข้อเท็จจริงโดย
สรุปดังนี้
1. สัญญาฉบับนี้บริษัท A เป็นผู้จัดทำขึ้นจำนวน 2 ฉบับ คือต้นฉบับและคู่ฉบับ โดยจัดส่ง
ต้นฉบับและคู่ฉบับมาให้บริษัทฯ ลงนามที่ประเทศไทย ในฐานะเป็นผู้ว่าจ้าง เมื่อลงนามเสร็จแล้วบริษัทฯ
ต้องส่งต้นฉบับและคู่ฉบับกลับไปให้บริษัท A ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อลงนามในฐานะเป็นผู้รับจ้าง
เมื่อลงนามเสร็จแล้ว บริษัท A จะจัดส่งต้นฉบับกลับมาให้บริษัทฯ ที่ประเทศไทย ส่วนคู่ฉบับ บริษัท A จะ
เก็บไว้ ข้อตกลงตามสัญญาจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่บริษัท A ได้ลงนามในสัญญาและส่งคืนต้นฉบับแก่บริษัทฯ
2. ขอบเขตของงาน
2.1 ส่วนที่ 1 บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท A เป็นผู้ให้คำปรึกษาในด้านกระบวนการผลิต
ของโรงงาน ในโครงการขยายการผลิต โดยช่วยเหลือทางด้านเทคนิคโครงการ การเฝ้าสังเกตการณ์
การทำงานของหน่วยการผลิตและทำการทดสอบปรับปรุงการผลิต บริษัท A ได้จัดส่งคณะทำงานซึ่งเป็น
ที่ปรึกษาด้านกระบวนการผลิตและทางด้านเทคนิคให้แก่บริษัทฯ
2.2 ส่วนที่ 2 บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท A ทำการศึกษาหน่วยการผลิตภายในโรงงาน
รีฟอร์เมอร์ และอะโรเมติกส์เพื่อเพิ่มผลผลิตของผลิตภัณฑ์ โดยบริษัท A ได้จัดส่งพนักงานของบริษัท A มา
หาข้อมูลในประเทศไทย และส่งข้อมูลดังกล่าวกลับไปศึกษาวิเคราะห์ ณ สถานประกอบการของบริษัท A
แล้วรายงานผลการวิเคราะห์ส่งกลับมายังบริษัทฯ การศึกษาหน่วยการผลิตภายในโรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิต
ของผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยการศึกษาเกี่ยวกับเตาเผาความร้อน เครื่องปฏิกรณ์ อุปกรณ์กลั่นแยก อุปกรณ์
เก็บของเหลว ฯลฯ
3. การชำระค่าจ้าง
3.1 ส่วนที่ 1 บริษัทฯจะจ่ายเงินค่าจ้างให้กับที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค ตามค่าใช้จ่าย
ของงานบริการที่ได้ทำ ดังนี้
(ก) ค่าจ้างต่อวัน (Perdiem Charge) เป็นการเหมาจ่ายค่าจ้างให้แต่ละคนและ
แต่ละวันเป็นเงิน 1,335 เหรียญสหรัฐ โดยคิดจากที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เข้ามาทำงานใน
ประเทศไทย นับจากวันที่มาถึงโรงงานจนถึงวันที่ออกเดินทางจากโรงงาน
(ข) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นการเหมาจ่ายให้แต่ละคน และจ่ายครั้งเดียว เป็น
เงิน 8,200 เหรียญสหรัฐ สำหรับเที่ยวไป-กลับ จากโรงงานในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา
รวมไปถึงช่วงเวลาเดินทางและค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เข้ามาปฏิบัติงานใน
ประเทศไทย
(ค) เงินค่าเบี้ยกันดารเป็นเงิน 37,000 บาท และค่าครองชีพเป็นเงิน 30,000
บาท เป็นการเหมาจ่ายให้แต่ละคนและแต่ละเดือน นับจากวันที่มาถึงโรงงานจนถึงวันที่ออกเดินทางกลับ
จากโรงงาน
(ง) ค่าพาหนะรวมถึงค่าเช่ารถ ค่าน้ำมันรถ ค่าประกันรถ และค่าใช้จ่ายอื่นที่
เกี่ยวข้อง ให้แต่ละคนและแต่ละเดือน โดยจำกัดไม่เกิน 25,000 บาท
3.2 ส่วนที่ 2 บริษัทฯ จะจ่ายค่าจ้างให้เป็นยอดเงินเท่ากับ 280,000 เหรียญสหรัฐ
ดังนี้
(ก) งวดแรกเท่ากับ 140,000 เหรียญสหรัฐ ตามใบแจ้งหนี้เมื่อสัญญามีผลบังคับใช้
(ข) งวดที่ 2 เท่ากับ 140,000 เหรียญสหรัฐ ตามใบแจ้งหนี้ขึ้นอยู่กับการส่งมอบ
รายงานการศึกษาขอบเขตการปรับปรุง
บริษัทฯ ขอทราบว่ากรณีสัญญาว่าจ้าง ตามส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ได้จัดทำเป็นสัญญาในฉบับ
เดียวกัน จะต้องติดอากรแสตมป์หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: สัญญาตามข้อเท็จจริงในกรณีนี้เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นตราสารที่อยู่ในบังคับ
ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และเป็นกรณี
ตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นนอกประเทศไทย ให้เป็นหน้าที่ของบริษัทฯ ผู้ทรงตราสารคนแรกใน
ประเทศไทย เป็นผู้เสียอากรโดยปิดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษ
ของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ของข้อ 3.1 และข้อ 3.2 ตาม
มาตรา 111 แห่งประมวลรัษฎากรหรือขอเสียอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์ต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26973

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020