เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/1502
วันที่: 10 สิงหาคม 2541
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายฝากที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/1(4), มาตรา 91/2(6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: นาย ก. ได้ครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2525 ต่อมาวันที่ 22
กุมภาพันธ์ 2539 ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินมีกำหนดหนึ่งปีกับนาย ข. โดยไถ่ถอนการขายฝากเมื่อวันที่ 11
ธันวาคม 2539 และในวันเดียวกันนั้นได้ขายให้แก่นาง ค. การที่นาย ก. ขายที่ดินให้แก่นาง ค. ใน
วันเดียวกันกับวันใช้สิทธิ์ไถ่นั้น จะถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันได้มาซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6)
แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา
91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย: การขายฝากถือเป็นการขาย ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะไถ่ถอน
การขายฝากภายในกำหนดเวลา ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่า
กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่เคยตกไปแก่ผู้ซื้อเลยก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติไว้โดย
เฉพาะว่าการขายฝากให้ถือเป็นการขาย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 492 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ การนับจำนวนปีที่ถือครองทรัพย์สินต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่
วันที่ใช้สิทธิ์ไถ่ถอนทรัพย์นั้นจนถึงวันที่ขายทรัพย์นั้นใหม่เมื่อผู้ขายฝากไถ่ถอนและขายที่ดินในวันเดียวกันกับ
วันใช้สิทธิ์ไถ่ถอนการขายฝาก จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี นับแต่วันได้มาซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6)
แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา
91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/26977

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020