เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/12274
วันที่: 17 สิงหาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณรายจ่ายของผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (5), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศ จำนวนเงิน 54 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ
ระยะเวลาบัญชีปี 2539 โดยต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2547
ตามส่วนแห่งมูลค่าหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละปี ในอัตราร้อยละ 20 ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปี
2540 บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีราคาหนี้เงินกู้ที่ยังไม่ถึง
กำหนดชำระ ตามมาตรา 65 ทวิ(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนเงิน 736,290,000 บาท
บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ สามารถเฉลี่ยรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ตามส่วนแห่งมูลค่าหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในอัตราร้อยละ 20 เป็นจำนวนเงิน 147,258,000 บาท ใน
แต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีในปี 2543 ถึง 2547 ตามข้อ 2 (1) แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ บริษัทฯ จะต้องบันทึก
การเฉลี่ยรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตามเกณฑ์ในข้อ 2 (1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.72/2540 ฯ ได้หรือไม่ อย่างไร
2. กรณีบริษัทฯ นำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาถือเป็นรายจ่ายตามเกณฑ์ในข้อ 2
(2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวนเงิน
736,290,000 บาท บริษัทฯ จะนำไปเฉลี่ยหักเป็นรายจ่าย 8 รอบระยะเวลาบัญชี กล่าวคือถือเป็น
รายจ่ายตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2540 ถึงปี 2547 รอบละ 92,036,250 บาท ถูกต้องหรือไม่
3. กรณีบริษัทฯ นำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาถือเป็นรายจ่ายตามเกณฑ์ในข้อ 3
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวนเงิน
736,290,000 บาท บริษัทฯ จะนำไปเฉลี่ยหักเป็นรายจ่าย 5 รอบระยะเวลาบัญชี กล่าวคือถือเป็น
รายจ่ายตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ถึง ปี 2544 รอบละ 147,258,000 บาท ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ มีทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตรา
ต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
บริษัทฯ ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่ง
ประมวลรัษฎากร ถ้ามีกำไรหรือขาดทุนให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่าย โดยบริษัทฯ มีสิทธิ
เลือกปฏิบัติตามข้อ 1 หรือข้อ 2 หรือข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24
กรกฎาคม 2540 ก็ได้ แต่บริษัทฯ จะต้องใช้วิธีการนั้นกับทรัพย์สินหรือหนี้สินทุกรายการหรือทุกสัญญา และ
ในกรณีที่บริษัทฯ เลือกวิธีการตามข้อ 2 หรือข้อ 3 จะต้องหมายเหตุในงบการเงินในแต่ละปีให้ชัดเจนว่า
เลือกเฉลี่ยตามข้อ 2 หรือข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม
พ.ศ. 2540 จนกว่าการคำนวณรายได้หรือรายจ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ
ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 จะหมดสิ้นไป โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต้องบันทึกบัญชี
และจัดทำงบกำไรขาดทุนให้เป็นวิธีการเดียวกับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ได้
2. กรณีตาม 1. การคำนวณตามส่วนแห่งมูลค่าทรัพย์สินหรือหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระใน
แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะบัญชีแรกดังกล่าวเป็นต้นไปตามข้อ 2 (1) แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ต้องรับชำระหนี้
หรือจ่ายชำระหนี้เป็นงวด ๆ และมีการรับชำระหนี้หรือจ่ายชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงใน
หรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ด้วย กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ เริ่มชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้
ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 เป็นต้นไป จึงไม่มีสิทธิเฉลี่ยรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตาม
ข้อ 2 (1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวได้แต่อย่างใด
3. กรณีตาม 2. บริษัทฯ สามารถคำนวณตามส่วนเฉลี่ยของระยะเวลาการชำระหนี้
นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกดังกล่าวถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามข้อ 2 (2)
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ได้ โดยบริษัทฯ
มีสิทธิเฉลี่ยรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ถึง
รอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องชำระหนี้ครั้งสุดท้ายคือปี 2547 ได้รวม 8 รอบระยะเวลาบัญชี กล่าวคือ ถือ
เป็นรายจ่ายได้รอบระยะเวลาบัญชีละ 92,036,250 บาท (736,290,000/8)
4. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จะเลือกคำนวณขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สิน
ตามส่วนเฉลี่ยของมูลค่าทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกดังกล่าวเป็นต้นไป แต่ไม่เกิน
ห้ารอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ตามข้อ 3 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24
กรกฎาคม พ.ศ. 2540 กล่าวคือถือเป็นรายจ่ายได้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ถึง 2544
รอบระยะเวลาบัญชีละ 147,258,000 บาท (736,290,000/5)
เลขตู้: 61/26990

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020