เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.12983
วันที่: 3 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 84/1
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด เป็นบริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลและได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนกันยายน 2539 แสดงภาษีซื้อชำระไว้เกินจำนวน 1,980,243.54 บาท และ
ได้แสดงความประสงค์ขอคืนภาษีที่ชำระเกินดังกล่าวต่อสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบใบกำกับภาษีของบริษัทฯ ประจำเดือนกันยายน 2539 พบว่า บริษัทฯ
ได้รับใบกำกับภาษีจาก บริษัท ข. เจ้าหน้าที่ฯ แจ้งว่าได้ทำการสอบยันใบกำกับภาษีซื้อของบริษัทฯ กับ
บริษัท ข. จำกัดซึ่งเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ แต่ไม่อาจติดต่อได้ ทำให้พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้
ออกใบกำกับภาษี จึงถือว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีปลอม บริษัทฯ จึงไม่สามารถขอคืน
ภาษีซื้อจากใบกำกับภาษีที่ออกโดย บริษัท ข. จำกัด ได้
บริษัทฯ เห็นว่าการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ฯ ไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมต่อบริษัทฯ เนื่องจาก
บริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวมาโดยสุจริต บริษัทฯ ได้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและส่งมอบ
เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ว่าบริษัทฯ ได้ชำระเงินให้แก่บริษัท ข. จำกัด และบริษัท ข. จำกัด เป็น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมีสิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ได้ ดังนั้น
ใบกำกับภาษีที่ออกโดยบริษัท ข. จำกัด จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง บริษัทฯ จึงมีสิทธิที่จะขอคืนภาษีซื้อ
จากใบกำกับภาษีดังกล่าวได้
บริษัทฯ ได้สรุปข้อชี้แจงและเอกสารที่ส่งต่อเจ้าหน้าที่ฯ ดังนี้
1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างทำของกับบริษัท ข. จำกัด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2539
สัญญาดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์ตามมูลค่าของสัญญาโดยบริษัท ข. จำกัดไว้แล้ว บริษัท ข. จำกัด ได้มี
การดำเนินงานให้แก่บริษัทฯ ตามสัญญาจ้างทำของจริง ได้มีการส่งมอบงานให้แก่บริษัทฯ ตามส่วนของ
งานที่แล้วเสร็จโดยบริษัท ข. จำกัด จะจัดทำและส่งมอบใบงานให้แก่บริษัทฯ เพื่อลงนามรับมอบงาน
หลังจากนั้นบริษัท ข. จำกัดจะส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการจากบริษัทฯ และจะออกใบกำกับภาษีและ
ใบเสร็จรับเงินให้แก่บริษัทฯ เมื่อได้รับชำระค่าบริการจากบริษัทฯ แล้ว
2. บริษัทฯ ได้ขอคัดลอกหนังสือรับรองของบริษัท ข. จำกัด พร้อมกับบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
จากสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2541 บริษัทฯ จึงได้ส่ง
เอกสารดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ฯ เพื่อแสดงว่าบริษัท ข. จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภท
บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2535
3. บริษัทฯ ได้ตรวจสอบจากสำนักงานสรรพากรจังหวัดระยอง และได้รับแจ้งว่าบริษัท ข.
จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
และได้มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นประจำทุกเดือน บริษัทฯ ไม่สามารถนำส่งเอกสาร
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท ข. จำกัด ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มี
อำนาจที่จะขอคัดลอกสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ แต่บริษัทฯ เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่สามารถที่จะขอคำยืนยัน
หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากสรรพากรจังหวัดได้
4. ต่อมาบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฯ เพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อ
ดังกล่าวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ ได้ตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท ข. จำกัด ซึ่งได้
ยื่นไว้ต่อสรรพากรจังหวัด และพบว่าบริษัท ข. จำกัด ได้นำส่งภาษีขายไม่ครบถ้วน
ในกรณีดังกล่าวบริษัทฯ มีความเห็นว่า การที่บริษัท ข. จำกัด นำส่งภาษีขายแก่
กรมสรรพากรไม่ครบถ้วน มิใช่สาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ เสื่อมสิทธิในการขอคืนภาษีซื้อที่ชำระไว้แล้วโดย
ถูกต้อง และเนื่องจากบริษัท ข. จำกัด เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีหน้าที่ที่จะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ดังนั้น
ใบกำกับภาษีที่บริษัท ข. จำกัดออกให้แก่บริษัทฯ จึงมิใช่ใบกำกับภาษีปลอม และบริษัทฯ สามารถนำมา
เป็นหลักฐานเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ บริษัทฯ จึงหารือว่าความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องแล้วใช่หรือไม่
นั้น
แนววินิจฉัย: กรณี บริษัท ข. จำกัด ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำส่งภาษีขายไม่
ครบถ้วน เป็นเรื่องที่ บริษัท ข. จำกัด ต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น สำหรับบริษัท ก. จำกัด ซึ่ง
เป็นผู้ได้รับใบกำกับภาษีจาก บริษัท ข. จำกัด จะไม่ต้องรับผิดร่วมกับ บริษัท ข. จำกัด ในกรณีดังกล่าว
ถ้าบริษัท ก.จำกัด มีหลักฐานอื่น ๆ ที่ต้องใช้ประกอบการยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องครบถ้วน
บริษัท ก. จำกัด ย่อมมีสิทธิที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากใบกำกับภาษีที่ได้รับจากบริษัท ข. จำกัด ได้
เลขตู้: 61/27051

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020