เลขที่หนังสือ | : กค 0811/12984 |
วันที่ | : 3 กันยายน 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้รับเงินสนับสนุนการปรับปรุงสถานประกอบการ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65, มาตรา 65 ตรี (5), มาตรา 79, มาตรา 82/5(3), พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 |
ข้อหารือ | : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ผู้ประกอบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักด้วย ภาษีซื้อห้างฯ ได้ทำสัญญาปรับปรุงแบบของสถานีบริการร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยห้างฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงทั้งหมด และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้เงินช่วยเหลือห้างฯ จำนวน 3 ล้านบาทเมื่อห้างฯ ได้ก่อสร้างปรับปรุงสถานีบริการเสร็จสิ้น ห้างฯ มีค่าใช้จ่ายรวม ภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 4 ล้านบาทและห้างฯ ได้รับเงินช่วยเหลือจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ล้านบาท ห้างฯ ต้องปฏิบัติอย่างไรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | : จากข้อเท็จจริงดังกล่าวห้างฯ ต้องปฏิบัติดังนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินช่วยเหลือการก่อสร้างปรับปรุงสถานีบริการจำนวน 3 ล้านบาทที่ห้างฯ ได้รับจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ถือเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะต้อง นำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินค่าก่อสร้างปรับปรุง สถานีบริการที่ห้างฯ ได้จ่ายไป ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือ ทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่าย ต้องห้ามถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตาม มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยอมให้หักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ ตามมาตรา 5 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างปรับปรุงสถานีบริการจำนวน 3 ล้านบาท เป็นเงินที่ห้างฯ ได้ มาโดยไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกระทำการตอบแทนใด ๆ สำหรับเงินที่ได้รับนั้นจึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาษีซื้อที่เกิดจากการปรับปรุงสถานีบริการที่ห้างฯ ได้จ่ายไป ถือได้ว่าเป็นภาษีซื้อที่ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการของห้างฯ ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหัก ออกจากภาษีขาย เพื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีได้ตามมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 61/27052 |