เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/12998
วันที่: 3 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเฉลี่ยรายได้และรายจ่ายสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย และเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม บริษัท A
จำกัด แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อ
ป้อนให้กับโรงงานบริษัท ข. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท A จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา
และบริษัท K จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น
บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับสิทธิ
ประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และสิทธิอื่น ๆ บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการ
ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2540 โดยเป็นรายได้จาก
การทดลองผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อส่งให้บริษัท ข. จำกัด เพื่อทดลองผลิต แต่ได้มีการคิด
ราคาขายและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ ถึงแม้บริษัทฯ จะยังไม่ได้ทำการผลิตจริงแต่บริษัทฯ เข้าใจว่า
บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการส่งเสริมฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540
บริษัทฯ มีรายได้อื่น ๆ อาทิเช่น ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากในธนาคาร จำนวนเงิน 5.5
ล้านบาท และรายได้อื่น ๆ เพียงเล็กน้อยจากการขายของเสียจากการผลิต และมีค่าใช้จ่าย จำนวน
260.4 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยจ่าย 3.5 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนภายหลังการ
เปลี่ยนแปลงระบบ จำนวน 34.2 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 222.7 ล้านบาท
บริษัทฯ ขอทราบว่าการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปี 2540 ดังนี้
1. ตามที่บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ
ส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันแรกที่มีการขายสินค้าออกไป ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2540 นั้นถูกต้องแล้ว
หรือไม่
2. การปันส่วนรายได้จากดอกเบี้ยรับ จะปันส่วนรายได้อย่างไร จะใช้หลักเรื่อง
ระยะเวลามาบันทึกได้หรือไม่ อาทิเช่น รายได้จากการส่งเสริมการลงทุน คิด 2.5 เดือน รายได้ส่วนที่
ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนคิด 9.5 เดือน
3. การปันส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่าย ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการปันส่วน
3.1 ใช้หลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลามาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ คือ คำนวณค่าใช้จ่าย
ระหว่าง 2.5 เดือน เป็นค่าใช้จ่ายที่ได้รับการส่งเสริมฯ และ 9.5 เดือน เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่
ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ
3.2 ใช้หลักเกณฑ์เรื่องรายได้มาเป็นเกณฑ์ได้หรือไม่ และรายได้นี้ควรจะใช้เฉพาะ
รายได้หลักหรือรายได้ที่รวมเรื่องรายได้ดอกเบี้ยจ่ายแล้ว
4. บริษัทฯ เลือกที่จะ Defer Exchange Gain/Loss สำหรับรายการพิเศษเรื่องกำไร
(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ เข้าใจว่า ขาดทุนที่ตัดจ่ายในปีแรกก็นำมาปันส่วนตามหลักเกณฑ์ที่
เลือกตามข้อ 3.1 หรือ 3.2 ส่วนในปีถัดไป ก็ปันส่วนตามข้อ 3.1 ได้นั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็น
วันที่เริ่มใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ถือวันที่ผู้ได้รับส่งเสริมมีรายได้จากกิจการ
ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจริง หรือวันที่มีการรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เป็นวันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
ดังนั้น แม้ว่าชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ที่ขายจะเป็นเพียงชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ตัวอย่าง
หรือชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์รถยนต์ที่ผลิตได้จากการทดลองการผลิตของกิจการก็ตาม และไม่เป็นชิ้นส่วนหรือ
อุปกรณ์รถยนต์ที่ผลิตได้ก่อนวันที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม ถือได้ว่า
บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการส่งออกตามบัตรส่งเสริมแล้ว
2. กรณีตาม 2. 3. และ 4. การเฉลี่ยรายได้และรายจ่ายประเภทอื่นนอกจากการขาย
ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับผู้ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ
และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ นั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า รายได้หรือรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยก
ออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง และไม่มีเกณฑ์อื่นที่จะเฉลี่ยรายได้หรือรายจ่ายนั้นได้เป็นการเหมาะสมแล้ว ก็
ให้เฉลี่ยรายได้หรือรายจ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยเฉลี่ยเฉพาะรายได้ที่
เกิดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมเท่านั้น
เลขตู้: 61/27053

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020