เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13117
วันที่: 8 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการยื่นแบบแสดงรายการผิดแบบ
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ: ธนาคารฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายประจำเดือนพฤษภาคม 2541
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 โดยใช้แบบแสดงรายการนำส่งภาษีผิดแบบแสดงรายการ ซึ่งมีรายละเอียด
ดังนี้
1. เงินได้จากเงินฝากประเภทบุคคลธรรมดาจำนวน 3,227,952.26 บาท ธนาคารฯ
ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.53 เป็นเงินจำนวน 484,191.62
บาท ซึ่งที่ถูกต้องธนาคารฯ ต้องนำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.2
2. เงินได้จากเงินฝากประเภทนิติบุคคลจำนวน 126,139.39 บาท ธนาคารฯ ได้หักภาษี
ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.2 เป็นเงินจำนวน 273.50 บาท ซึ่งที่ถูกต้อง
ธนาคารฯ ต้องนำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.53
ธนาคารฯ มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเพียงแต่ใช้แบบแสดงรายการผิดแบบเท่านั้น และ
ธนาคารฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ถูกต้องพร้อมนำส่งกรมสรรพากรแล้ว จึงขออนุโลมให้ถือว่าทางธนาคารฯ
ได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีไว้ถูกต้องแล้ว
แนววินิจฉัย: กรณีธนาคารฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่บุคคลธรรมดา ธนาคารฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นแบบแสดงรายการหักภาษีและนำส่งด้วยแบบ
ภ.ง.ด.2 และกรณีธนาคารฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่นิติบุคคล ธนาคารฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ตามข้อ 4 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯลฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
และยื่นแบบแสดงรายการหักภาษีและนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.53 การที่ธนาคารฯ ยื่นแบบแสดงรายการ
ด้วยแบบ ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.2 ตามลำดับนั้น จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการไม่เป็นไปตามแบบที่
อธิบดีกำหนด แต่การยื่นแบบแสดงรายการผิดแบบดังกล่าว มิได้ทำให้จำนวนเงินภาษีเปลี่ยนแปลงแต่
อย่างใด จึงอนุโลมให้ถือว่าธนาคารฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้แล้ว
เลขตู้: 61/27061

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020