เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13243
วันที่: 8 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายที่ดินโดยการแบ่งแยก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: นาย ก. และนาย ข. ซึ่งเป็นพี่ชาย ได้ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม
2532 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา เป็นที่ดินเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง สภาพเป็นที่นา โดย
จุดประสงค์เพื่อเก็บไว้สร้างบ้านพักอาศัยของนาย ก., นาย ข. และบุตรธิดาในภายหน้า โดยนาย ก.
มีบุตรและธิดารวม 5 คน ส่วนนาย ข.มีบุตรและธิดารวม 3 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 นาย ก. และ
นาย ข. ได้ตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายโดยแบ่งแยกเป็น 8 แปลง นาย ก. ได้กรรมสิทธิ์รวม
4 แปลง หลังจากแบ่งแยกแล้วก็มิได้มีการปรับปรุงและพัฒนาที่ดินแต่อย่างใด ต่อมาในปี พ.ศ. 2536
นาย ก.ประสบปัญหาทางการเงินจึงได้นำที่ดินที่แบ่งแยกมาทั้ง 4 แปลงไปจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ต่อ
ธนาคารเพื่อจ่ายคืนเงินที่ยืมจากนาง ค. ซึ่งเป็นภริยาของนาย ข.หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2537 นาย
ข. ได้เสียชีวิตลง ทำให้นาง ค. ประสบปัญหาทางการเงิน จึงได้ขายที่ดินทั้ง 4 แปลงที่รับมรดกจาก
นาย ข.ซึ่งเป็นที่ดินที่แบ่งแยกจากแปลงที่ร่วมกันซื้อกับนาย ก. ประกอบกับผู้ที่จะซื้อที่ดินประสงค์จะซื้อทั้ง
8 แปลง นาย ก. จึงได้ขายที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวไปพร้อมกัน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 รวม
เวลาถือกรรมสิทธิ์เกินกว่า 5 ปี แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่สรรพากรได้แจ้งให้ทราบว่า นาย ก. ต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าว เนื่องจาก นาย ก. ได้จดทะเบียน
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งนาย ก. เห็นว่า ไม่ควรต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินทั้ง 4 แปลง
เพราะมิใช่เป็นการขายภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ และการที่ได้จดทะเบียน
ภาษีธุรกิจเฉพาะก็เป็นการจดทะเบียนภายหลังวันที่ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว คือได้จดทะเบียน
ภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 เพื่อประกอบธุรกิจค้าที่ดินในสถานที่อื่น ซึ่งในปัจจุบันได้
ขายไปหมดแล้วและเป็นที่ดินที่ได้มาภายหลังได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งสิ้น
จึงขอทราบว่าการขายที่ดินทั้ง 4 แปลงที่ได้มาก่อนการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะทั้ง 4
แปลง โดยถือกรรมสิทธิ์เกินกว่า 5 ปี แล้วขายไป โดยมิได้มีการจัดสรรหรือพัฒนาที่ดินแต่อย่างใด จะ
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
แนววินิจฉัย: การขายที่ดินตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นที่ดินที่แบ่งออกเป็นแปลงย่อย แต่ถ้าผู้ขาย
มิได้จัดทำสาธารณูปโภคใด ๆ ขึ้นในที่ดินที่ขาย ทั้งมิได้กระทำใด ๆ อันเป็นการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินอัน
มีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรร กรณีย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 และกรณี
ดังกล่าวผู้ขายได้ขายที่ดินภายหลังกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
244) พ.ศ. 2534 รายรับจากการขายที่ดินจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา
91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/27069

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020