เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13523
วันที่: 15 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการนับระยะเวลาถือครองอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91, มาตรา 91/2, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: (1) นาง ก. ได้ขายที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวนเนื้อที่ 22 ไร่เศษ เลขที่ 0008 ให้แก่
บริษัท ข. จำกัดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 ในราคา 272,528,000 บาท
(2) นาง ก. แจ้งว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวตนได้ซื้อมาจาก นาง ค. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม
2535 ในราคา 500,000 บาท ซึ่งเป็นการซื้อที่ดินมือเปล่ามีแต่เพียงสิทธิครอบครองที่นาย ง. และนาย
จ. ได้แจ้งการครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2498 ตามแบบแจ้งการ
ครอบครองที่ดิน (สค.1) เลขที่ 0006 เนื้อที่ 10 ไร่ และต่อมาได้มีหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 14
ตุลาคม 2531 มอบให้นาง ค. บุตรของนาย ง. เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการจัดการที่ดินแปลงดังกล่าว
และเมื่อนาง ก. ได้ซื้อที่ดินมาแล้ว ได้แจ้งขอออก น.ส.3 ก. เลขที่ 0008 ปรากฏชื่อของนาง ก.
เป็นผู้ทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2540
ดังนั้น การพิจารณานับระยะเวลาการถือครองที่ดินของนาง ก. เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีดังกล่าวจะต้องนับตั้งแต่วันที่ได้ซื้อสิทธิการครอบครองตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 5
พฤษภาคม 2535 หรือวันที่ นาง ก. มีชื่อปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก.
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง นาง ค. แสดงเจตนาทำสัญญาโอนการครอบครองสิทธิครอบครองใน
ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 0006 ให้แก่ นาง ก. โดยมีค่าตอบแทน 500,000 บาท ถือเป็นการขายตาม
มาตรา 91 แห่งประมวลรัษฎากรนาง ก.จึงได้มาซึ่ง "สิทธิการครอบครองในที่ดิน" ซึ่งหมายถึง
อสังหาริมทรัพย์ด้วย ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันได้รับมอบ
การครอบครอง คือวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 ฉะนั้น เมื่อนาง ก. ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไป เมื่อ
วันที่ 26 มิถุนายน 2540 จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำเกินกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้
มา ไม่เป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (6) จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
เลขตู้: 61/27088

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020