เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13373
วันที่: 11 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการคำนวณราคาค่าบริการผิดพลาด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/10, มาตรา 86/10
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 63)ฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 ในระหว่างดำเนินการปรับปรุง
เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการ
ให้บริการจัดหาเงินบาทให้แก่ลูกค้าชาวต่างประเทศ ผู้ใช้บริการห้องพัก โดยลูกค้าชาวต่างประเทศที่
ต้องการเงินบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่นค่าแท๊กซี่ ค่าซื้อสินค้า ค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่มีเงินบาท
เป็นค่าใช้จ่าย มีแต่เงินตราต่างประเทศ จะขอให้บริษัทฯ จัดหาเงินบาทให้ โดยจะใช้บัตรเครดิตชำระ
ให้บริษัทฯ ทันที พร้อมค่าธรรมเนียมอีกร้อยละ 5
ปรากฏว่าในระหว่างดำเนินการปรับปรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้ออกหลักฐาน
ใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวผิดพลาด เช่น ลูกค้าชาวต่างประเทศต้องการเงิน 3,500
บาท บริษัทฯ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ร้อยละ 5.0 จำนวน 175 บาท แยกเป็น
ค่าบริการ 159.09 บาทภาษีมูลค่าเพิ่ม 15.91 บาท แต่ด้วยความบกพร่องของคอมพิวเตอร์กลับ
ออกใบกำกับภาษี คำนวณภาษีจากยอดรวม 3,375 บาท แยกเป็นค่าบริการ 3,340.91 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 334.09 บาท ซึ่งทำให้ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม 2540 บริษัทฯ นำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่มสูงเกินจริงจำนวน 154,794.98 บาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ จะขอคืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งเกินได้หรือไม่ หรือจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ได้คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่า
ความเป็นจริง โดยได้ออกใบกำกับภาษี และยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) นำส่งภาษีขายที่
คำนวณผิดพลาดดังกล่าวแล้ว จึงเป็นกรณีที่มีเหตุการณ์ที่บริษัทฯ มีสิทธิ์ออกใบลดหนี้ได้ตามมาตรา 82/10
(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และให้บริษัทฯ
นำเอาภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของค่าบริการที่ลดลงไปหักออกจากภาษีขายในเดือนที่ออกใบลดหนี้ได้
ตามมาตรา 82/10 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/27093

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020