เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/13571
วันที่: 16 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้มีเงินได้ครบเกษียณอายุงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50
ข้อหารือ: รัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีใช้หลักเกณฑ์การเกษียณอายุผู้ปฏิบัติงานให้พ้นตำแหน่ง
ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานที่จะเกษียณอายุงานในปีนั้น ๆ จึงมีระยะเวลาทำงานเพียง
9 เดือน แต่ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ต้องนำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายคูณด้วย
จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีคือคูณด้วย 12 แล้วนำไปคำนวณ
ภาษี เป็นผลให้ผู้ปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ ที่ครบเกษียณอายุงานถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เกินเป็นเงิน
จำนวนมาก และต้องขอคืนภาษีดังกล่าวในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีนั้น ๆ
รัฐวิสาหกิจจึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาทบทวนแนวปฏิบัติในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ
ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้มีเงินได้ที่ครบเกษียณอายุงานโดยใช้
เงินได้พึงประเมินที่จ่ายคูณด้วยจำนวนคราวที่จ่ายจริงคือคูณด้วย 9 เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ เพื่อ
ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี รวมทั้งลดขั้นตอนการตรวจสอบและการคืนภาษีของกรมสรรพากร
แนววินิจฉัย: การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา
40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณหักตามวิธีการตามมาตรา 50 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงิน
เสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีเสมอ ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะเกษียณอายุในระหว่างปีหรือไม่ก็ตาม กรณีรัฐวิสาหกิจ
จ่ายเงินเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายคือ
12 เสมอ เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี โดยไม่คำนึงว่าผู้รับเงินเดือนจะทำงานเต็ม
ปีภาษีหรือไม่ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 61/27096

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020