เลขที่หนังสือ | : กค 0811/13824 |
วันที่ | : 22 กันยายน 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 49 ทวิ, มาตรา 50(5), มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 69 ตรี |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด นางสาว ข. และนาย ค. ได้จดทะเบียนขายที่ดิน ให้กับบริษัท ง. จำกัด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 ราคาขายเป็นเงิน 148,000,000 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเงิน 72,640,000 บาท โดยบริษัท ก. จำกัด แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าได้รับเงินจากการขายที่ดิน เป็นเงิน 30,000,000 บาท เจ้าหน้าที่ได้คำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของบริษัทฯอัตราร้อยละ 1 จากทุนทรัพย์ 30,000,000 บาท เป็นเงิน 300,000 บาท ส่วนนางสาว ข. และนาย ค. ได้รับเงินคนละ 59,000,000 บาท เจ้าหน้าที่ได้ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม 72,640,000 บาท และแยกคำนวณภาษีเงินได้เป็นรายบุคคลจากราคาประเมินดังกล่าว คำนวณภาษีเงินได้ที่ต้องชำระคนละ 2,392,000 บาท จึงขอทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ตามข้อเท็จจริง นางสาว ข. นาย ค. และบริษัท ก. จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ในที่ดินแปลงดังกล่าวคนละหนึ่งส่วนตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อขายที่ดิน ได้เงิน 148,000,000 บาท แต่ละรายจึงได้เงินค่าขายรายละ 49,333,333.33 บาท การคำนวณ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พิจารณาได้ดังนี้ 1. กรณีของบริษัทต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และให้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามส่วนของเงินได้ของบริษัทฯ โดยคำนวณ จากราคาขายตามความเป็นจริงหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้นแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ปรากฏว่า ตามข้อเท็จจริงราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ทั้งแปลง 72,640,000 บาท เฉลี่ย 3 ส่วน ส่วนละ 24,213,333.33 บาท กรณีของบริษัท ก. จำกัด ราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ต่ำกว่าราคาขายจริงเฉลี่ย จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 จากราคาขายจริงเฉลี่ย คือร้อยละ 1 ของราคา 49,333,333.33 บาท โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในฐานะเป็น เจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร ใช้อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณีของบุคคลธรรมดา ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (5) (ข) แห่ง ประมวลรัษฎากร และให้คำนวณหักตามส่วนเงินได้ของแต่ละคน โดยคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ใน วันที่มีการโอนนั้นตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อเท็จจริง ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากราคา 24,213,333.33 บาท 3. กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามข้อเท็จจริงดังกล่าว กรมสรรพากรจะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมิน สังกัดกรมสรรพากรทำการประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรต่อไป |
เลขตู้ | : 61/27112 |